posttoday

เวลานี้ท่านถาม เรามาตอบ ท่านจะได้เดินต่อไป

25 มกราคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 4/2564 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ในช่วงเวลานี้ เวลาที่ทางการแพทย์ของเรากำลังต่อสู้เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เวลาที่คนติดการพนันก็ยังไม่ยอมหยุด ยอมเลิกชั่วคราว ยังไปเล่นให้ตำรวจไล่จับ เวลาที่เรากำลังเหมือนแมวไล่จับหนูแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย

เวลาที่มนุษย์พวกไม่รู้กาลเทศะก็ยังออกมาเรียกร้องโน่นนี่ ให้ร้ายกันต่อไปไม่หยุด เวลาที่มนุษย์พันธุ์ขวางโลกบ้าการเมือง 2475 ก็ยังเรียกคนมารวมตัวกัน

เวลาที่ธุรกิจรายเล็กรายน้อยต้องต่อสู้ขายของให้ได้ภายใต้ข้อจำกัด เวลาที่เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือแบบพบเห็นต่อหน้า เวลาที่คนทำงานจำนวนไม่น้อยต้องนั่งทำงานที่บ้านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หลังขดหลังแข็ง

เวลาที่ภาครัฐต้องคิดค้นหาทางออกมาตรการกระจายเม็ดเงินผ่านระบบดิจิทัล ไปยังผู้คนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแบบที่ต้องถูกกฎหมาย ถูกฝาถูกตัว และต้องให้แบบถูกใจอีกด้วย บรรยากาศของเราๆ ท่านๆ ในเวลานี้คือต้องกลับมาสู่โหมด "อยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น อยู่ให้ยาว เพื่อก้าวข้ามวิกฤติ จนกว่าชีพจะหาไม่"

ในขณะที่เราๆ ท่านๆ ต้องหารายได้มายังชีพ ป้องกันตัวเองแบบถ้าต้องอาบแอลกอฮอล์หลังกลับเข้าบ้าน ใส่หน้ากากจนเป็นอวัยวะที่ 33 และต้องมีกิจกรรมต่างๆ กับผู้คนแบบห่างกัน 1.5-2 เมตร จำนวนผู้คนเป็นล้านกำลังอยู่ในภวังค์มึนๆ เมื่อระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของทางการเรื่องหนี้สินได้หมดลงไปปลายปีที่แล้ว ตอนนี้เวลานี้อยู่ในช่วงเวลาของมาตรการที่ออกมารองรับต่อเนื่อง อาการที่เกิดดังนี้

1. หนี้ยังมีเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือจะหามาจ่ายกันได้อย่างไร

2. รายได้ที่หดลงมาแบบฉับพลัน ตามภาษาเทพ ภาษาพรหมของบรรดานักวิชาการ ที่บอกว่าเรากำลังเจอภาวะ Income Shock ครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันทางการเงินน้อยลง จึงต้องออกมาตรการให้เฉพาะกับกลุ่มเป้าหมาย ถ้าเอาเป็นภาษาชาวบ้านคือ รับ-จ่ายติดลบ แถมมีหนี้มาจ่อตอนสิ้นเดือน ไม่กล้าคุยหรือกล้ารับโทรศัพท์ของคนที่ทำหน้าที่ติดตามหนี้ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน

3. การจะเข้าไปเริ่มคุย เริ่มเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ทั้งแบบที่เป็นหนี้เสีย หนี้ NPL ไปแล้วกับปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย หนี้ NPL จะทำอย่างไร มันเกิดอาการ "กลัวกับอาย" มากๆ จึงมักหาคำตอบในคำถามผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนดำเนินการ

4. กลุ่มที่พยายามเพิ่มหนี้ใหม่มากินใช้ที่ติดลบ กับกลุ่มที่พยายามเพิ่มหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่าก็ยังคงพยายามกันมากมาย แต่ก็ยากจะฝ่าด่านการพิจารณาเงินกู้ บางส่วนก็ระบายความไม่พอใจไปยังองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แบบฟัดไม่เลือกหน้าเอาให้มันสะใจ ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อไม่มีใครอนุมัติก็ด่าออกไปในทุกช่องทาง บางครั้งอาจจะลืมไปนิดว่า หนี้นั้นท่านได้แต่ใดมา หนี้นั้นท่านได้เพราะจำเป็นหรืออยากได้มาเหตุแห่งการชำระหนี้ไม่ได้จนเกิดการสะดุดหยุดลงเป็นเพราะเหตุใด ไม่มีใครรู้ความจริง นอกจากตัวของลูกหนี้พูดกับตัวเองแบบไม่สะกดจิตหลอกตัวเอง เราลองหาสาเหตุว่าชีวิตและการดำเนินไปของตัวเรานั้นมันไปเลี้ยวผิดที่แยกการก่อหนี้ก้อนไหน หากเราไม่เจอต้นเหตุ เราก็ยากจะแก้ไขปัญหา หากเราไม่ยอมรับว่า "เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา" มันก็ยากจะเดินต่อไปได้ครับ

มีคำถามจากผู้คนที่กำลังหาทางออกได้โพสต์ลงถาม และผู้เขียนคิดว่าน่าจะพอตอบได้ตามข้อมูลที่ส่งมาถามดังนี้ครับ

.... คือ เราผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่ แล้วมาช่วงโควิด-19 เราไม่ได้ผ่อนเลย 4-5 เดือน แล้วคราวนี้จะเอาเงินก้อนไปปิด ยอด 4-5 เดือนที่ติดแล้วผ่อนปกติส่วนที่เหลือ ตัดยอดค้างทิ้ง อยากทราบว่าเราจะหลุดจากการติดเครดิตบูโรล่าช้าหรือไม่

คำตอบ มีดังนี้ครับ

ท่านได้ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะถ้าท่านเข้ามาตรการรับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ สถานะทางบัญชีของหนี้ก้อนนี้จะถูกทำให้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงกล่าวคือ ถ้าท่านไม่ค้างหรือค้างแล้ว 30 วัน นับแต่วันเข้ามาตรการจนออกจากมาตรการ สถานะทางบัญชีท่านจะเหมือนเดิมคือท่านไม่ค้าง หรือค้างแล้ว 30 วัน ทีนี้พอออกจากมาตรการบัญชีนั้นก็จะเดินต่อตามจริง ถ้าครบกำหนดชำระแล้วไม่จ่ายก็คือค้าง ถ้าครบกำหนดแล้วมาจ่ายมันก็จะไม่ค้าง ทีนี้สมมติในทางดีว่าตอนต้นของการเข้ามาตรการท่านไม่ค้าง ตอนออกท่านก็ไม่ค้าง ท่านเอาเงินไปปิดยอดที่ไม่ได้จ่ายหรือเอาเงินก้อนไปปิดยอดที่เข้ามาตรการชะลอการชำระหนี้ที่ได้มีการตกลงกันไว้ สถานะบัญชีล่าสุดตอนที่ชำระเสร็จสิ้นคือ ปิดบัญชี ประวัติของท่านก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง และเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการให้ความช่วยเหลือครับ

สมมติในทางร้ายคือท่านไม่ไปติดต่อเข้ามาตรการในทางใดทางหนึ่ง จำนวนวันค้างชำระของท่านก็จะไหลไปตามความจริงจากค้างไม่เกิน 30 วัน...ไล่ไปเรื่อยๆ 60 วัน 90 วัน 120 วัน ... ท่านได้ข้ามเส้นวันที่ค้างชำระในวันที่ 91 ท่านก็มีสถานะในบัญชีนั้นเป็นหนี้เสียหรือเป็นลูกหนี้ NPL เมื่อท่านเอาเงินไปปิดบัญชี มันก็จะกลายเป็นสถานะ ปิดบัญชี แต่ว่าประวัติในอดีตที่เคยเป็นคนค้างชำระ และค้างชำระจนเป็นหนี้เสีย มันก็อยู่ในรายงา?นข้อมูลเครดิตหรือภาษาชาวบ้านคือรายงานเครดิตบูโรครับ ข้อมูล?เดือนที่ระบุว่าค้างชำระก็จะออกไปจากระบบนับจากวันที่ปิดบัญชี โดยเริ่มลบออกไปทีละเดือนใช้เวลาลบข้อมูลในแต่ละบรรทัดจนหมดสิ้นภายใน 36 เดือนข้างหน้าเช่น ท่านค้างชำระเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ข้อมูลที่เข้ามาในระบบบรรทัดนี้จะออกจากระบบในเดือนเมษายน 2566 ครับ

ข้อแนะนำของผู้เขียนคือถ้าปิดหนี้ได้ก็ไปปิดเสีย ถ้าคิดว่าจะชำระหนี้ได้ยากให้รีบไปปรับโครงสร้างหนี้นะครับ ตามเกณฑ์ขั้นต่ำในเวลานี้ท่านจะได้ลดภาระค่างวดที่ผ่อนไม่น้อยกว่า 30% เช่นเดิมเคยผ่อน 9,000 บาทต่อเดือนก็จะลดลงมาที่ 6,000 บาทต่อเดือน เงินที่ลดนี้เขาจะเอาไปต่อท้ายงวดหลังๆ ต่อไป สัญญามันก็จะขยายเวลาออกไป คือท่านต้องเป็นหนี้นานขึ้น เว้นแต่จะมีเงินก้อนไปโปะปิดบัญชีในอนาคต

เอวังก็มีด้วยประการทั้งปวงดังนี้ครับ