posttoday

มารู้จักกับ Technology Sector

02 ธันวาคม 2563

คอลัมน์ Healthy Wealth โดย...เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์ บลจ.เอ็มเอฟซี

การลงทุนหุ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น สามารถเติบโตได้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจแบบไหนทั้งในช่วงเวลาปกติและในช่วงวิกฤต เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีอย่างต่อเนื่องและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ธุรกิจเทคโนโลยีมีการเติบโตสูงขึ้น

เมื่อนึกถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มักจะนึกถึงแค่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และสินค้าไฮเทคต่างๆ แต่ในแง่การลงทุนในตลาดหุ้นสามารถแบ่งกลุ่มในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components) ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป เช่น แผงวงจรรวม (IC) แผงวงจรพิมพ์ (PCB) และสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ซึ่งกลุ่มนี้สามารถพบได้ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น HANA, KCE, Intel, Microchip Technology, AMD เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) แบ่งออกเป็น

1. ธุรกิจซอฟแวร์และผู้ให้บริการ บริษัทเทคโนโลยีในกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จัดทำหรือออกแบบอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ดาวเทียม เคเบิล และผู้วางระบบ IT เป็นต้น นอกจากนี้หมายรวมถึง บริษัทที่ให้บริการฐานข้อมูลออนไลน์ หรือบริการค้นหาหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ บริการด้านไอที ให้คำปรึกษาด้านไอทีหรือบริการประมวลผลข้อมูลแก่บริษัทอื่น ๆ สุดท้ายซอฟต์แวร์ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ประเภทใดก็ได้สำหรับการใช้งานทางธุรกิจหรือผู้บริโภคตั้งแต่ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรและซอฟต์แวร์ระบบไปจนถึงวิดีโอเกม จะเห็นได้มากและหลากหลายประเภทในต่างประเทศ เช่น Google, eBay, Facebook, PayPal, Alibaba, Tencent, Zcaler, Mercado Libre, Kakao, Zoom เป็นต้น

2. ธุรกิจฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ บริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ฮาร์ดแวร์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมถึง บริษัทที่ทำการบริหารจัดการฮาร์ดแวร์และระบบ บริษัทผู้ผลิตหรือให้บริการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เมนเฟรม server รวมถึงผู้ให้บริการ Cloud ผ่านฮาร์ดแวร์ ยกตัวอย่างเช่น Apple, HP, Dell, Motorola, Cisco Systems, ScanDisk, Tesla เป็นต้น

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในตลาดหุ้นโลกและไทยมีการแบ่งประเภทที่เหมือนกัน แต่รูปแบบในการดำเนินธุรกิจมีความแตกต่างกัน บริษัทเทคโนโลยีของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขายอุปกรณ์สื่อสาร และให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่บริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศมีการยกระดับทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในรูปของสินค้าและบริการ หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน เช่น สมาร์ทโฟน บริการออนไลน์ต่างๆ ทั้งการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การดูหนัง ฟังเพลง เกมออนไลน์ และการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ทำการพัฒนานวัตกรรมเทคโลยีให้ก้าวล้ำเกี่ยวข้องกับหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีด้านพลังงาน เทคโนโลยีด้านการผลิต เทคโนโลยีด้านการเกษตร เป็นต้น โดยการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตไปจนถึงการผ่าตัด การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การใช้โดรนทางการเกษตร การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบน Cloud การใช้ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain เป็นต้น

แม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทยมีการเติบโตและมีการวิจัยและพัฒนายกระดับนวัตกรรมสู่โลกอนาคตที่น้อยกว่าต่างประเทศ แต่นักลงทุนไทยจะยังคงมีโอกาสในการลงทุนหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะมีการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในธีมเทคโนลียีที่มีความหลากหลาย เช่น ธีมอินเทอร์เนต ธีมเซมิคอนดักเตอร์ ธีมซอฟแวร์ ธีมเซอร์วิส หรือแม้แต่เกมส์ออนไลน์ นอกจากนี้ การลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยียังแฝงอยู่ในธีมการลงทุนแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG ได้แก่ Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ (Governance) ธรรมาภิบาล เช่น การลงทุนในบริษัทพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีพลังงาน การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงทุนที่ส่งผลเชิงบวกต่อสังคม เช่น การรักษาพยาบาลหรือคุณภาพของระบบการดูแลสุขภาพ การศึกษา เป็นต้น ในปัจจุบันนักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในธีมต่างๆ ผ่านการลงทุนโดยตรง เช่น หุ้นต่างประเทศ หรือ ETF (Exchange Traded Fund) หรือเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ โดยก่อนลงทุนทุกครั้งนักลงทุนควรศึกษา ทำความเข้าใจ และขอคำแนะนำผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน