posttoday

เรามีคนแบบนี้จริงๆในระบบการพยายามยื่นขอกู้... ความรู้ที่จะพาคนวิบัติ

30 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 48/2563 โดย...สุรพล โอภาศเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

จากการที่เครดิตบูโรมีระบบติดตาม เฝ้าดู เฝ้าระวังในโลกสื่อสารออนไลน์ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ว่าในขณะนี้เรากำลังจะมีประเด็นอะไรบ้างที่สร้างความเสี่ยงในระบบของการให้สินเชื่อ แล้วเราก็พบสิ่งที่น่าสนใจครับ มีคนหัวหมอเขียนบทความว่า การกู้เพื่อหาทางเพิ่มทรัพย์สินด้วยการคิดว่ามันมีช่องโหว่ในระบบ แล้วก็ออกคำแนะนำ ผู้เขียนขอแจ้งไปยังท่านที่คิดจะทำตามว่าเรื่องนี้ได้มีการจัดวางระบบเพื่อการแก้ไขดังนี้นะครับ

ประเด็นที่มีการนำเสนอว่า กู้แบบระเบิดบูโร ทำได้อย่างไร ลองอ่านดูก่อนนะครับ ข้อความดังนี้......

"ระเบิดบูโร" แนวคิดจริงๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสีเทาหน่อยๆ นะครับ เพราะว่าการระเบิดบูโร ถามว่ามันถูกต้องตามกฎ ตามหลักการของทางแบงก์หรือไม่ ผมว่ามันก็ไม่ถูก แต่มันเป็นการใช้ช่องโหว่ในระบบมาทำ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรในมุมการลงทุน (ผู้เขียน: เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน เช่น คอนโดมาหลายห้องเอาไปหาประโยชน์ สร้างรายได้) ถ้าเราวางแผนที่จะจ่ายคืนหนี้ทั้งหมดได้นะครับ (ผู้เขียน : คำถามคือจะมีสักกี่คนที่สามารถหมุนหนี้แล้วรอด)

มาเริ่มกันก่อนที่คำว่า “ระเบิดบูโร” จริงๆ เป็นการพูดให้เท่ห์ นิยามของมันก็คือการกู้แบงก์ พร้อมกันหลายๆ ทรัพย์ เช่น ปกติโดยฐานเงินเดือนเราสามารถจะกู้ซื้อคอนโดได้ที่วงเงิน 5 ล้านบาท ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะลงทุน หรือเราอยากจะได้คอนโดทั้งหมด 2 หลังๆ ละ 5 ล้านบาท โดยวิธีปกติ ถ้าเรากู้คอนโดสองครั้ง ก็เท่ากับว่าเราต้องมีวงเงิน 10 ล้านเราถึงจะกู้ได้ทั้งสองหลัง แต่ ๆ ๆ ๆ ถ้าเราใช้วิธีการระเบิดบูโร คือ ยื่นกู้พร้อมกัน และโอนพร้อมกัน เราก็จะสามารถเป็นเจ้าของคอนโดทั้ง 2 หลังได้ (ผู้เขียน : คำเตือนคือท่านก็เป็นหนี้สองก้อนบนความสามารถตั้งแต่วันแรกว่ารับผิดชอบได้แค่ก้อนเดียว กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ชีวิตก็เสี่ยง มันเท่ห์ตรงไหน) แล้วทำไมมันถึงสามารถกู้พร้อมกันได้ล่ะ ต้องย้อนกลับไปมองที่ระบบกลางของธนาคารในไทยเรานะครับ ปกติเขาจะมีสำนักงานเครดิตบูโร ที่จะบันทึก (record) ยอดหนี้สินของทุกๆ คนในทุกๆ เรื่องเอาไว้ เวลาที่เราจะทำการกู้ทางธนาคาร ก็จะเอาประวัติเราไปเช็กหนี้สินที่ฐานข้อมูลจากเครดิตบูโรก่อน

แต่จากที่ผมทราบมาฐานข้อมูลตัวนี้จะไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย (update) ตามเวลาจริง (real time) มากนัก มันจะมีอัตราการปรับให้ทันสมัย (update) ข้อมูลที่ช้ากว่ากำหนด (delay) ประมาณ 30 วัน (อันนี้จากที่เคยได้ยิน จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ากี่วันนะครับ) ดังนั้น ถ้าเราทำการกู้คอนโด 2 หลังพร้อมกัน โอนที่ที่ดินในวันเดียวกัน ข้อมูลในเครดิตบูโรมันก็ยังจะไม่ขึ้นว่าเรามียอดหนี้เกินกว่าฐานเงินเดือนของเรา ก็จะทำให้เรากู้ได้ และโอนคอนโดมาเป็นเจ้าของได้ครับ (ผู้เขียน : ระบบจะทำการ update รายเดือนหลังจากที่บัญชีใหม่เปิดขึ้นมาไม่เกิน 30 วันซึ่งเป็นไปตามรอบ เช่น ข้อมูลที่เกิดภายในเดือนมีนาคมจะถูกนำส่งเข้าระบบไม่เกินวันที่ 20 ของเดือนเมษายน และจะถูกนำขึ้นระบบฐานข้อมูลไม่เกินวันที่ 25 ของเดือนเมษายนครับ)

เรื่องที่ต้องระวังกับการ ระเบิดบูโร ??!!??

อย่างที่บอกไปนะครับว่าระเบิดบูโรไม่เป็นสีเทามันก็อาจจะมีผลเสียเกิดขึ้นกับเราได้ (ผู้เขียน : ท่านที่แนะนำผมต้องขอเรียนว่าท่านกำลังทำบาป บาปเคราะห์จะตกกับคนที่คิดไม่ครบ โลภ และท้ายที่สุดจะเป็นหนี้เสีย) อย่างที่ผมพอจะคิดๆ ออกก็คือ

1. เราต้องมั่นใจจริงๆ นะ ว่าเราสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ (ผู้เขียน : ก็ตั้งแต่ต้นมันผ่อนไม่ไหว แล้วจะมั่นใจว่าจ่ายหนี้ได้อย่างไร ก็เพราะรู้ตั้งแต่ต้นว่ากู้ตรงไปตรงมาไม่ได้ เลยจะมาวิ่งทางลัดไม่ใช่หรือ) เพราะ ถ้าหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนมันเกินกำลังเรา สุดท้าย ไปต่อไม่ไหว ก็จะล้มกันหมดนะครับ ทีนี้จะกลายจากระเบิดบูโร เป็นติดเครดิตบูโร (ผู้เขียน : การมีประวัติผิดนัดชำระมันเป็นเรื่องที่ดีกับชีวิตเหรอ มันไม่ได้สนุกเหมือนเล่นเกมนะครับ จะทำไปเพื่อ..) คิดง่ายๆ ว่า กู้ 5 ล้านต้องจ่ายเดือนละ 3 หมื่น ถ้าเรากู้สองห้องพร้อมกันก็ต้องจ่าย 6 หมื่นบาทต่อเดือน เราไหวกันไหมครับ แต่ ๆ ๆ ๆ ในกรณีที่เราเอาห้องมาปล่อยเช่า ผู้เช่าก็จะช่วยเราจ่ายด้วย ดังนั้นก็ต้องคิดเลขดีๆ ไว้ก่อน และคิดเผื่อตอนที่แย่ที่สุดไว้ด้วยนะครับ เช่น ตอนที่ห้องว่างหมดเลย เราจะเอาเงินสำรองที่ไหนมาจ่าย ถ้ามันว่างต่อไป 3 เดือน จะทำอย่างไร คิดไว้ด้วยนะครับ (ผู้เขียน? : ท่านที่แนะนำ ทำไมท่านไม่บอกต่อล่ะครับว่าเวลาจมลงไปในบ่อหนี้ ปีนขึ้นมาไม่ได้ ถูกทนายเร่งรัดหนี้สิน ชีวิตมันตกนรกแค่ไหน ให้คำแนะนำ สร้างฝัน แล้วหนีออกไปแบบเนียนๆ ท่านกำลังทำบาปที่ให้ยาพิษเป็นความรู้กับคนที่โลภและหลงไปกับความไม่มีอยู่จริง)

2. จำนวนแบงก์ที่เรายื่นกู้ก็มีผลนะครับ หมายถึงว่า ตอนที่เรายื่นกู้ทางธนาคารเขาจะมีการเช็กเครดิตบูโรของเรา ซึ่งในรายงาน (report) มันจะไม่ได้แสดงแค่ยอดเครดิตของเราแต่มันจะบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีใครมาเช็กเครดิตเราบ้าง ซึ่งก็แน่นอนถ้าธนาคารเขาเห็นเรายื่นกู้แต่มีการเช็กเครดิตบูโรก่อนหน้า 9 ครั้งใน 1 เดือนมันก็เป็นสัญญาณ (sign) ของการไม่ปกติแน่ๆ เลยที่ใครจะกู้ทีละตั้ง 9 แบงก์พร้อมกัน ดังนั้นก่อนจะทำ ต้องวางแผนดีๆ หน่อยว่า ห้องนี้จะกู้ด้วยแบงก์ไหน อีกห้องจะกู้ด้วยแบงก์ไหน ธนาคารเขาจะได้ไม่ผิดสังเกตุนะครับ แต่ ๆ ๆ ๆ ถ้าเรายื่นเยอะจริงๆ เราก็เอาสีข้างถูไปได้นะ ก็บอกว่า เรายื่นหลายแบงก์ก็เพื่อหาดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด ก็ยังเป็นสิ่งที่เราทำได้ (ผู้เขียน : เวลานี้แบงก์เขาก็เช็กได้ครับ เขาเช็กจากประวัติการสืบค้นข้อมูลครับ ข้อมูลนี้ส่งให้กับแบงก์ทุกครั้งที่ตรวจเครดิตบูโร ส่งทันทีในเวลาที่มีการเรียกดูข้อมูล บางแบงก์ ก่อนจะโอนเงินกู้ให้ จะมีการเช็กอีกรอบครับ ทางธนาคารกลางเขาก็รู้ประเด็นนี้ สมาคมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เขาก็รู้ประเด็นนี้ ใครที่คิดว่าเขาจะดูตื้นๆ แบบนี้ขอให้คิดใหม่ ถูกปฏิเสธสินเชื่อมาเยอะแล้ว ท่านที่แนะนำเคยรู้จักคำว่า เครดิตบูโรช้ำหรือไม่ล่ะ จะมั่วก็ต้องไปให้สุด หยุดที่ถูกปฏิเสธ แล้วคิดไหมว่าการจะกลับมายื่นขอสินเชื่อได้อีกเวลานี้มันต้องรอระยะดูใจอีกนานพอสมควร)

3. ควรให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร รู้หรือไม่ว่า เรากำลังจะระเบิดบูโร … เรื่องนี้ตอบยาก ผมคิดอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ ตามหน้าที่แล้ว เขาไม่สนับสนุนการระเบิดบูโรหรอกครับ น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดเต็มๆ ดังนั้นผมว่าไม่จำเป็นต้องให้เขารู้ครับ แต่ ๆ ๆ ๆ สุดท้ายเขาก็จะเห็นจากจำนวนการยื่นขอดูเครดิตบูโรที่ผมบอกไปในข้อที่แล้วเอง … โดยสรุปถ้าไม่สนิทกันจริงๆ ผมว่าไม่ต้องให้รู้ (ผู้เขียน : ไม่ต้องสนิทกันครับ คนทำสินเชื่อเขารู้มุกนี้นานแล้ว)

4. ควรที่จะโอนทุกทรัพย์ในวันเดียวกัน ผมว่าชัวร์สุด … จากที่เคยๆ ทำมา ผมจะให้โอนวันเดียวกันเลยนะครับ อย่างเช่น คอนโดสองที่ ก็โอนมันวันที่ 3 พร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องการ update ฐานข้อมูลของเครดิตบูโร แต่ ๆ ๆ ๆ ก็อย่างที่บอกว่ามันจะช้ากว่ากำหนด (delay) แต่ผมก็ไม่รู้ว่าระยะมันเป็นอย่างไร มันตัดรอบการ update อย่างไร เอาว่าเสี่ยงน้อยสุดก็ใช้วันเดียวกันให้หมดครับผม (ผู้เขียน : มันทำได้จริงเหรอ ระวังนะครับ จินตนาการกับความจริง)

5. ความเร็ว ความพร้อมของเอกสาร ต้องสมบูรณ์แบบ (perfect)!!! อย่างที่บอกว่าเราพยายามจะทำให้ทุกการโอนจบในวันเดียว ดังนั้นเรื่องเอกสาร การตรวจทาน กับทางธนาคารที่เราเลือก ก็ต้องดูให้ดีให้ครับ จะได้ไม่มีปัญหาต้องเลื่อนเวลาโอน เพราะจะไปกระทบกับการโอนอีกห้องได้ครับ (ผู้เขียน : หึหึ)

แบบอย่าง (โมเดล-Model) การจัดการของผม (การจ่ายคืน) จริงๆ แล้วเหตุผลของการระเบิดบูโรของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ที่แน่ๆ ถ้าอยากจะได้แค่คอนโดเงินเหลือ แล้วจะกู้ทีละหลายๆ ห้องเพื่อจะเอาเงินส่วนต่างมาใช้ ผมไม่แนะนำให้ทำอย่างยิ่งเลยครับ (ผู้เขียน : สินเชื่อเงินทอนถูกจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยมาตรการ LTV (Loan to Value อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน) ไปเรียบร้อยแล้วครับตั้งแต่ปลายปี 2562) ห้าม ๆ ๆ ๆ ๆ ทำเลยนะ เพราะถ้าเราไม่มีปัญญาจ่ายคืน ก็อย่ากู้มาดีกว่าครับ เสียประวัติซะเปล่าๆ มาว่ากันเรื่องแบบอย่าง model ที่ผมใช้ดีกว่านะครับ

บทสรุป คนโลภจะเป็นเหยื่อของความโลภ คนที่คิดว่าตนเองฉลาดแกมโกง บ่มเพาะนิสัย สร้างสิ่งที่ผิด สร้างบาปในความคะนองทางปัญญาที่คิดว่ามีกว่าคนอื่น มันคือสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรมวิบัติในโลกการเงิน เรามีคนอย่างนี้จริงๆ ในอดีตก็มักหลบในมุมมืด แต่ตอนนี้มีความกล้าถึงขนาดประกาศก้องว่าเป็น model ช่างเป็นสิ่งที่น่าอับอายจริงๆ ต้องย้อนกลับไปตอนรับปริญญาหากท่านที่แนะนำมีการศึกษาในระดับนั้น เวลาเราปฏิญาณตนต่อปริญญานั้นเราได้เปล่งวาจาว่าอย่างไร เวลาเราถ่ายภาพกับคนที่รักและครอบครัวเราภาคภูมิใจกับสิ่งใด แล้ววันนี้เราได้ใช้ความรู้เราให้สังคมดีขึ้นหรือเลวลง สำหรับท่านที่คิดจะทำตาม model ผู้เขียนมีคำเตือน "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนการตัดสินใจ"

ขอบคุณครับ