posttoday

การระบาดของไวรัสยังกดดันเศรษฐกิจโลก ดุลบัญชีสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุล

30 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทมีปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.40 นักลงทุนติดตามพัฒนาการของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้หลายประเทศบังคับใช้มาตรการปิดเมืองเพิ่มเติม ด้านปัจจัยต่างเทศ นักลงทุนติดตามการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เพื่อประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่โอเปกมีกำหนดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ด้านนโยบายการเงิน ตลาดให้ความสำคัญที่คำแถลงของ เจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด และคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ด้านปัจจัยในประเทศ ธปท. มีกำหนดรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนตุลาคม โดยประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังมีแนวโน้มเกินดุล ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะรายงานอัตราเงินเฟ้อไทยซึ่งมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway ในกรอบ 30.20-30.45 เงินบาทเปิดตลาดในช่วงต้นสัปดาห์แข็งค่า เนื่องจากตลาดเปิดรับความเสี่ยงเมื่อมีความหวังจาก AstraZeneca รายงานประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดที่ 70% อีกทั้งโดนัล ทรัมป์ เริ่มขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจให้กับโจ ไบเดน โดยมีข่าวว่า เจเนต เยลเลนอาจได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลโจ ไบเดน ขณะที่ด้านไทย คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1.52 แสนล้านบาท และเตรียมขยายมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2 เงินบาทกลับมาอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อผู้ว่า ธปท. แสดงความกังวลว่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว แต่มองว่ามาตรการซื้อสินทรัพย์ยังไม่มีความจำเป็น ในช่วงท้ายสัปดาห์ เงินบาทเริ่มผันผวนแบบทรงตัว เนื่องจากสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงวันหยุดในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า แม้ว่าก่อนหน้านั้น รายงานการประชุมของเฟดจะชี้ว่า คณะกรรมการหารือการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ด้วยการขยายขอบเขตให้รวมถึงการซื้อสินทรัพย์ที่มีอายุมากขึ้นขณะที่ยังคงขนาดมาตรการเท่าเดิม อีกทั้งยังส่งสัญญาณว่าจะมีรายละเอียดของการหารือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ตลาดคาดหวังว่า เฟดจะเปิดเผยการหารือดังกล่าวในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ โดยบาทปิดตลาดที่ 30.29 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยประเด็นสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดคือข่าวที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐออกมากล่าวว่าโครงการเงินกู้ของเฟดเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 4.55 แสนล้านดอลลาร์ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 63 จะไม่มีการต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไป รวมไปถึงข่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้แก่นายโจ ไบเดน และพร้อมที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งและออกจากทำเนียบขาวหากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เทคะแนนให้กับนายโจ ไบเดน โดยทาง GSA ยังได้อนุมัติเงินกว่า 7 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนอำนาจในครั้งนี้ ทางด้านของนายไบเดนได้ออกมาประกาศนโยบาย "America is back" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐพร้อมแล้วที่จะกลับมาเป็นผู้นำบนเวทีโลกอีกครั้ง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู แต่จะไม่ปฏิเสธเหล่าประเทศพันธมิตร และยังให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับบรรดาชาติพันธมิตรเพื่อรักษาอเมริกาให้ปลอดภัย และจะไม่สร้างความขัดแย้งทางทหารโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งเตรียมประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วมทีมเศรษฐกิจและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ของคณะบริหารชุดใหม่ในสัปดาห์หน้า โดยมีกระแสข่าวว่านายไบเดนจะเลือกคุณเจเนต เยลเลน อดีตประธานเฟดเป็นรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มใช้นโยบายการคลังอย่างเต็มที่และคาดว่าจะทำงานร่วมกับเฟดได้เป็นอย่างดีและจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังบริษัท S&P Global Ratings ยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลและสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอีกทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่ารวดเร็วของเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความหวังวัคซีน อย่างไรก็ตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ยังไม่เหมาะสมในเวลานี้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินไทยเพียงพออยู่แล้ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น กล่าวคือพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลงจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 3 ปี (BOT239A) วงเงินประมูล 20,000 ล้านบาท ที่ปรากฏว่าผลออกมาค่อนข้างดี โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.59% และ Bid coverage ratio สูงถึง 3.46 เท่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยตัวยาวปรับตัวสูงขึ้นตามผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 15ปี (ESGLB35DA) ด้วยวิธีการสำรวจความต้องการลงทุน (Bookbuild) ออกมาที่ขอบบนสุดของการสำรวจหรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 1.652% ส่งผลให้ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.49% 0.55% 0.63% 0.84% 1.09% และ 1.42% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 8,080 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 8,730 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,138 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,488 ล้านบาท