posttoday

Megatrend กับการลงทุนในประเทศไทยหลัง COVID-19

24 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน โดย...ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์

การจะลงทุนในหุ้นให้ได้ผลตอบแทนที่ดีตามคาดนั้นเป็นที่รู้กันว่าควรจะเป็นการลงทุนในระยะยาว ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและประมาณการณ์ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตแล้วจึงคัดเลือกลงทุนในหุ้นนั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า Stock Selection แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจต่าง ๆ อย่างมากมายต่อเนื่องเป็นวงกว้าง มีทั้งกิจการที่ล้มหายตายจากไปหรือเกิดขึ้นมาใหม่ รวมไปถึงวิถีการใช้ชีวิตและแนวคิดของผู้คนก็ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐานและประมาณการณ์ที่เราเคยทำกันไว้ก็อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว ต้องประเมินกันใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป โดยความท้าทายสำหรับนักลงทุนทุกคนก็คือ โลกปกติแบบใหม่ (New normal) หลัง COVID-19 นั้นจะเป็นอย่างไร และเราจะหาหุ้นที่เป็นผู้อยู่รอดและสามารถเติบโตได้ดีให้ได้ในโลกแบบใหม่นี้กันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินได้อย่างแม่นยำว่า New normal นั้นจะเป็นอย่างไร แต่ก็พอจะเห็นแนวทางของ Megatrend ที่กำลังเกิดขึ้นบ้างแล้ว และพอจะเป็นตัวอย่างได้ ดังนี้

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว: เกิดพฤติกรรมและความต้องการแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงสภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ (1) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการป้องกันโรค (Medical tourism and Wellness) ซึ่งน่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษานั้น ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงการป้องกัน ดังนั้นจึงเกิดความต้องการที่จะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการป้องกันโรคแบบบูรณาการมากขึ้น นอกเหนือจากการเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จากนี้ไปการท่องเที่ยวที่เน้นการดูแลสุขภาพ การผ่อนคลาย สปา กีฬาและนันทนาการต่าง ๆ อาหารเพื่อสุขภาพ ไลฟ์โค้ช หรือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพคาดว่าน่าจะได้รับความนิยมอย่างสูงและต่อเนื่อง (2) การท่องเที่ยวแบบที่ทำงานที่เที่ยวที่เดียวกัน (Staycation) ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวอยู่ในละแวกบ้านหรือในจังหวัดที่เราอยู่นั่นเอง เดิมทีนั้น Staycation ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากนัก เพราะยังสามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อได้อย่างสะดวกสบาย จนเมื่อเกิดโรคระบาดนี้ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามที่ต้องการ จึงได้หันมาเปลี่ยนบรรยากาศมองหาสิ่งแปลกตาและพักผ่อนโดยการไปเที่ยวใกล้ๆ บ้านแทน ซึ่งจัดเป็นการท่องเที่ยวที่ประหยัดกว่าการท่องเที่ยวแบบปกติมาก และยังสามารถช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระจายรายได้ออกไป ซึ่งคาดว่าแนวโน้ม Staycation นี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถให้ประสบการณ์แปลกใหม่ได้ด้วยความสะดวกและประหยัด ใช้เวลาสั้นๆ และไม่ต้องวางแผนมากนัก

ส่วนของผู้ประกอบการนั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลลบที่รุนแรงมาก จึงคาดว่าจะเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของอุปทานในส่วนนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมรายเล็ก ๆ จำนวนมากที่ฐานะการเงินไม่แข็งแรงพอที่จะทนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ก็อาจจะต้องปิดตัวไปและไม่สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้อีก นอกจากนี้ คาดว่าจะเห็นการซื้อและควบรวมกิจการกันอีกด้วย จำนวนผู้เล่นที่ลดลงจะทำให้ผู้ที่อยู่รอดมาได้จะทวีความมั่นคงแข็งแรงขึ้นได้หลังจากที่ภาวะการท่องเที่ยวกลับคืนมาเป็นปกติ

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์: ในเวลานี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า Work from home ซึ่งเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ เริ่มจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 บีบบังคับให้เราต้องปรับที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นสถานที่ทำงาน จนมาถึงปัจจุบันพบว่าในหลาย ๆ ธุรกิจสามารถให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ดังนั้น จากนี้ไปที่อยู่อาศัยจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบ หรืออาคารชุดก็จะต้องจัดให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ (Multi-Function) เพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบการทำงานที่บ้านได้ ส่วนในกรณีของพื้นที่ส่วนกลางก็ยังต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างในพื้นที่ที่มีการใช้ร่วมกันด้วย จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางเช่นเดียวกัน โดยแนวคิดแบบสังคมแบ่งปันพื้นที่แบบ Co-Working Space ก็จะเปลี่ยนมาสู่แนวคิดของการใช้พื้นที่แบบ Co-Separate Space ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบมีระยะห่างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การออกแบบเพื่อความยั่งยืนและใส่ใจสุขอนามัย เช่น การลดการสัมผัส (Touchless) ในพื้นที่ส่วนกลาง ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคนี้ ส่วนสถานที่ทำงานแบบเดิม ๆ ก็จะมีความจำเป็นน้อยลงแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะกลับสู่ภาวะปกติก็ตาม ซึ่งเราคงจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบสถานที่ทำงานตามมาในอีกไม่ช้า

อุตสาหกรรมค้าปลีก: อุตสาหกรรมสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน โดยในช่วงที่เกิด COVID-19 มีการแพร่ระบาดและประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ Lock down นั้น การที่ผู้คนต้อง Work from home ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ดังที่เคยเป็นมา แต่เรายังต้องซื้ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับการดำรงชีวิตกันอยู่ดี จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ผู้ประกอบการต่างก็ตื่นตัวขึ้นมาเร่งประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่าน E-Market Place ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทดแทนการออกไปซื้อหาด้วยตนเองได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการด้านการขนส่งสินค้าตามมา (Delivery service) การให้บริการทางออนไลน์นั้นไม่เว้นแม้แต่การให้สั่งซื้ออาหารและจัดส่งอาหารให้ถึงที่ โดยมีการให้บริการทั้งในรูปแบบที่ร้านมีแอปพลิเคชันเป็นของตนเอง หรือร้านร่วมเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคขันส่งอาหารต่าง ๆ อีกทั้งมีการใช้กลยุทธ์ O2O ที่เชื่อมต่อ Online และ Offline ซึ่งเป็นการผสมจุดแข็งทั้ง 2 ช่องทางเข้าด้วยกัน โดยจุดแข็งของตัวร้านค้าคือการมีสินค้าไว้ให้ลูกค้าได้เห็น สามารถทดลองใช้ ทดลองสัมผัส ในขณะการตัดสินใจซื้อและชำระเงินสามารถกระทำผ่านออนไลน์ได้ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถเก็บข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งาน ไว้เพื่อประโยชน์ในปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้อีกด้วยซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็น New normal ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในยุคจากนี้ไปทั้งสิ้น

จากภาพรวม Megatrend ของทั้ง 3 อุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คาดว่าแม้โรคระบาดจะหายไปแต่ Megatrend เหล่านี้ยังคงอยู่จนกลายเป็น New normal ไปในที่สุด ดังนั้น กิจการที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภาวะใหม่นี้ได้ก็จะเป็นผู้ที่อยู่รอด และหากทำได้ดีจนสามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ตลอดไปก็จะสามารถเป็นผู้นำในยุคนี้ได้อย่างยั่งยืน และนั่นก็คือหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในยุคจากนี้ไป