posttoday

Economic cycle การลงทุนอย่างรู้ทัน ในภาวะเศรษฐกิจขาลง

12 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...สุจิตรา วีระเผ่า ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษอาวุโส AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

เริ่มต้นปีพ.ศ. 2563 คำค้นหาในโซเชียลที่คนสนใจกันมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจปี 63 เผาจริงหรือหลอก, เศรษฐกิจเละ ว่างงานสูง หนี้เสียพุ่ง เงินบาทแข็ง, คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563, ชี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย, เราอยู่จุดไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจโลก, การรับมือกับเศรษฐกิจขาลง หรือเศรษฐกิจปี 2563 จะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งหรือไม่

เมื่อย้อนดูเศรษฐกิจไทยปีที่แล้วปีพ.ศ. 2562 ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน , ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว, สินค้าไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิประโยชน์ GSP ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคการผลิต การจ้างงานและการบริโภคของประเทศไทยซึ่งสุดท้ายแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลง และผิดไปจากการคาดการณ์ตอนต้นปี 2562 ค่อนข้างมาก ทำให้ทุกคนค่อนข้างหวาดกลัวกับการกลับมาของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงแม้จะรู้ว่าในที่สุดแล้วจะมีวิธีการทำให้คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอีกครั้ง เราก็อยากเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น การวางแผนว่าจะเลือกลงทุนอะไรในสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง และทำไมสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงถึงมีผลกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ต่างกัน

ก่อนที่เราจะกังวลกับสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจและการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปีนี้ เราควรทำความรู้จักกับวัฏจักรเศรษฐกิจก่อน “วัฏจักรเศรษฐกิจ 1 รอบ ประกอบด้วย ระยะฟื้นตัว ระยะเฟื่องฟู ระยะเริ่มถดถอย และระยะถดถอย เมื่อเกิดครบทั้ง 4 ระยะดังกล่าว จะเรียกว่า 1 รอบวัฏจักรเศรษฐกิจ” ในแต่ละระยะไม่จำเป็นต้องมีระยะเวลาเท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยมักจะมีระยะเวลาประมาณ 2-5 ปี ดังนั้น 1 รอบวัฏจักรเศรษฐกิจ จึงมักกินเวลาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรก็คือ อัตราการเติบโตหรือขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP), อัตราเงินเฟ้อที่สูงหมายถึงเงินจำนวนเท่ากันแต่เราสามารถซื้อของได้น้อยลง ก็คือของแพงขึ้นนั้นเอง, การจ้างงานที่สูงขึ้น ทำให้คนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น, ดอกเบี้ยเงินฝากที่ถูกลดลง ก็เพื่อให้คนนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น รายละเอียดดังตารางด้านล่าง

Economic cycle การลงทุนอย่างรู้ทัน ในภาวะเศรษฐกิจขาลง

เศรษฐกิจระยะถดถอยมีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะถดถอยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย ความสามารถในการรับความเสี่ยงคือ เราสามารถทนต่อเงินต้นติดลบได้มากน้อยแค่ไหนและเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ซึ่งการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ การจัดพอร์ตมีรายละเอียด ดังนี้

Economic cycle การลงทุนอย่างรู้ทัน ในภาวะเศรษฐกิจขาลง

ยกตัวอย่าง ถ้าเราสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ระดับสูง ประมาณการผลตอบแทนที่คาดหวัง 6-8% คือ ถ้ามีเงิน 100 บาท เรากระจายเงินลงใน พันธบัตร/หุ้นกู้/ตราสารหนี้ 10 บาท กองทุนรวมผสม 40 บาท ตราสารทุน 30 บาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10 บาท ทองคำ 10 บาท เราจะมีโอกาสได้กำไรรวมเงินต้น 106-108 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงทุนและสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนั้นๆ ด้วย

พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้ป.ต.ท. หุ้นกู้ปูนซีเมนต์ หุ้นกู้แสนศิริ ซึ่งไม่ได้ขายตลอดเวลา สามารถติดตามข่าวการออกขายได้ตามหนังสือพิมพ์หรือเวบไซต์ของธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งในการลงทุนหุ้นกู้เราต้องพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ ส่วนตราสารหนี้มีทั้งที่เป็นกองทุนปิดแบบมีระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี ผู้ซื้อจะรู้ดอกเบี้ยที่จะได้รับตั้งแต่แรก หรือกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่สามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา เราสามารถหาซื้อได้ทุกธนาคาร เปิดขายตลอด

กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) เป็นกองทุนรวมที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น หรือตราสารอื่นๆ ขึ้นกับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ เช่น กอง K-GINCOME-A(A) ของธนาคารกสิกรไทย ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก 73% , หุ้นทั่วโลกและกองทุนอสังหาฯประมาณ 27% หรือกองทุนของธนาคารอื่นๆ สามารถหาซื้อได้จากทุกธนาคาร เปิดขายทุกวัน

ตราสารทุน หรือ หุ้น สามารถลงทุนเป็นหุ้นรายตัวเช่น PTT, BTS, AOT, ADVANCE ผ่านทางโบรกเกอร์ของหลักทรัพย์ต่างๆ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น เช่น 1AMSET50-RA มีนโนยบายลงในหุ้นไทย 50 ตัวแรก ของบลจ.วรรณ หรือกองทุนของธนาคารอื่นๆ ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากทุกธนาคารเช่นกัน

กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ให้ผลตอบแทน เป็นรายได้จากค่าเช่าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ มีทั้งที่ซื้อโดยตรงกับบริษัทออกกองทุนเองเช่น CPN มีทั้งที่ซื้อตอน IPO หรือซื้อในตลาดหลักทรัพย์ หรือซื้อผ่านกองทุนรวม เช่น PRINCIPAL IPROPEN-D ของธนาคาร CIMB หรือกองทุนของธนาคารอื่นๆ ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากทุกธนาคารเช่นกัน

การลงทุนทางเลือก เช่น ทองคำ ทั้งที่ซื้อเป็นทองคำแท่ง ที่ร้านทอง หรือกองทุนทองคำ K-GOLD ของธนาคารกสิกรไทยเป็นกองที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ของประเทศสิงคโปร์

เราสามารถดูการจัดอันดับกองทุนรวมต่างๆทั้งกองทุนรวมผสม กองทุนหุ้น หรือกองทุนอื่น ๆที่มีผลตอบแทนดีได้จาก www.morningstar.com, แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ fundRadars

นอกจากการจัดสรรพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสมในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราควรเตรียมตัวให้พร้อมเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 12 เดือน, มีรายได้หลายทางและสม่ำเสมอ, ให้ความสำคัญกับการออมเงิน, หนี้สินไม่ควรเกิน 2 เท่าของทรัพย์สิน, ประกันสุขภาพในยามเจ็บป่วย, กระจายการลงทุนไปสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้าสามารถวางแผนและจัดการสิ่งที่กล่าวมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงไหนของวงจร เราก็จะลงทุนได้อย่างมีความสุข