posttoday

คุ้มครองผู้ลงทุนอย่างไรให้ตอบโจทย์ในยุคดิจิทัล

12 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน โดย...จอมขวัญ คงสกุล , CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค

สวัสดีค่ะทุกท่าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานให้เข้าถึงสินค้าและบริการได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยราคาหรือต้นทุนที่ถูกลง จึงมีคำที่เราคุ้นหูกันอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ Digital Disruption ขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป หน่วยงานกำกับดูแลเองต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เช่นกัน จึงขอเล่าสู่กันฟังถึงตลาดทุนในยุคดิจิทัล และการปรับตัวของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศรวมถึง ก.ล.ต. ค่ะ

• คริปโทเคอร์เรนซี กับสองขั้วมหาอำนาจ

จากความพยายามของ Facebook ในการสร้างสกุลเงิน Libra เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแบบไร้พรมแดน ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลนานาประเทศต่างออกมาแสดงความกังวลต่อข้อเสนอของ Facebook รวมทั้งรัฐสภาของสหรัฐฯ เองที่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายสองฉบับ คือ “Keep Big Tech Out of Finance Act” และ “Stablecoins are Securities Act” ที่ส่งผลให้การออก stablecoin (คริปโทเคอร์เรนซีที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง) ในสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง และอาจส่งผลให้ Facebook ติดขัดในการออก Libra ได้

ในขณะเดียวกัน จีนก็ต้องการแซงหน้าและก้าวเป็นผู้นำทางการเงินด้วยการใช้เงินหยวนดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งออกโดยธนาคารแห่งประชาชนจีน หรือ People’s Bank of China (PBoC) โดยเงินหยวนดิจิทัลได้รับการออกแบบให้นำมาใช้สอยแทนธนบัตรและเหรียญกษาปณ์สกุล RMB และคาดว่าจะขยายออกไปยังการให้บริการต่าง ๆ เช่น การขนส่ง การศึกษา การให้บริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อวางมาตรฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี cryptography และการบริหารจัดการ password โดยเป็นหนึ่งในการเตรียมการที่สำคัญเพื่อรองรับการเปิดตัวเงินหยวนดิจิทัลนี้

• Initial Coin Offering (ICO) และบทบาทหน้าที่ของตัวกลาง

ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลในนานาประเทศมีท่าทีในการกำกับดูแลและคุ้มครองผู้ลงทุนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีหลายกรณีเกี่ยวกับ ICO ที่ยังมีข้อสงสัยเรื่องการหลอกลวงอยู่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดในเดือนมกราคมนี้ประเทศมาเลเซียและแคนาดาก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านการกำกับดูแล

SC Malaysia (SC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของมาเลเซีย ได้ออกร่างแนวปฏิบัติโดยกำหนดให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต้องกระทำผ่านผู้ให้บริการ Initial Exchange Offerings (IEO) platform ที่ขึ้นทะเบียนกับ SC เท่านั้น และต้องขออนุญาตจาก SC ก่อน โดยผู้ที่จะออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าโครงการหรือธุรกิจที่เสนอนั้นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม (innovative solution) หรือมีคุณค่าทางดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ (meaningful digital value proposition) ต่อมาเลเซีย สำหรับ The Canadian Securities Administrators (CSA) หรือ หน่วยงานกำกับดูแลของแคนาดานั้น ก็ได้ออกแนวปฏิบัติที่กำหนดให้ platform ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์

• ยกระดับการกำกับดูแล Wallet

ในต่างประเทศนั้น พบว่าเริ่มมีความพยายามในการกำกับดูแล wallet ผ่านตัวกลาง โดยขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกันของผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศ และระดับความเสี่ยงที่ใช้ในการพิจารณา เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการ custody wallets หรือให้บริการแลกเปลี่ยนโทเคนที่เป็นผู้เก็บ private key ถือเป็นตัวกลางทางการเงินที่ต้องถูกกำกับตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน ส่วนในญี่ปุ่น มีการกำกับดูแล crypto-asset custody ในทำนองเดียวกันกับการกำกับดูแลการเก็บรักษาทรัพย์สินโดย exchange เช่น การระบุตัวตนลูกค้า การแยกทรัพย์สินของลูกค้า

• Crowdfunding ยังคงได้รับความนิยม

การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (the crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (funding portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต หรือ “คราวด์ฟันดิง” ถือเป็นการระดมทุนที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการบริจาค (donation-based) ของรางวัล (reward-based) หลักทรัพย์ (investment-based) หรือสินเชื่อส่วนบุคคล (Peer-to-Peer Lending) สำหรับในประเทศไทยนั้น มีร้านอาหารแฮริสัน บุชเชอร์ ที่เพิ่งประกาศความสำเร็จของการระดมทุนผ่านหุ้นคราว์ฟันดิงได้ตามเป้าหมาย 18.6 ล้านบาท อีกทั้ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นกู้ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อลดข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสให้การระดมทุนมีความสำเร็จได้ง่ายขึ้น กรณีมีผู้จองซื้อถึง 80% ของเป้าการระดมทุนที่ตั้งไว้ ก็ให้ถือว่าสำเร็จโดยไม่ต้องยกเลิกการเสนอขาย จากเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ต้องมีผู้จองซื้อครบ 100% เท่านั้น จึงจะถือว่าสำเร็จตามหลัก all-or-nothing

• Securities Token Offering (STO) กับตลาดทุนยุคดิจิทัล

สำหรับในประเทศไทย ก.ล.ต. มีแผนที่จะนำเทคโนโลยี Distribute Ledger Technology (DLT) มาใช้ยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน digital infrastructure ในตลาดทุน เพื่อรองรับกระบวนการทำธุรกรรมในตลาดทุนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสำหรับทุกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ปรับเกณฑ์รองรับหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งจะทำให้กระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการระดมทุน และผู้ลงทุนเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและตลาดให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น อันเป็นการพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลที่ทุกภาคส่วนเข้าถึง เชื่อมั่น และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังตระหนักถึงข้อร้องเรียนและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น จึงทบทวนการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ เท่าทัน และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนกำหนดแนวทางการกำกับและตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ใช้เทคโนโลยี ต้องปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber resilience) เพื่อให้มีความมั่นคงปลอดภัยและดูแลผู้ลงทุนไม่ให้ถูกเอาเปรียบในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ กรณีผู้ลงทุนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ลงทุน หรือจะลงทุน สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th และผ่านช่องทาง “SEC Check First” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ ก.ล.ต. ได้พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป และหากผู้ลงทุนมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย โปรดแจ้ง SEC Help Center ที่สายด่วน ก.ล.ต. โทร. 1207 ได้ 24 ชั่วโมง เพื่อการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป