posttoday

อยาก (ให้ลูก) สมองดี...สุขภาพที่ดี (ของลูก) ต้องมาก่อน

11 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...อาจารย์อัครนัย ขวัญอยู่ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (ศาสตราจารย์ 11)ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

งานศึกษาในหลาย ๆ ชิ้นในต่างประเทศได้อธิบายถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก” ซึ่งการดูแลสุขภาพนี้ดูได้จากรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการกิน การนอน หรือการออกกำลัง

หนึ่งในนั้นคืองานศึกษาเรื่อง Physical Activity and Cognitive Functioning of Children ของ Bluma และ Lipowska ในปี 2018 ซึ่งอธิบายว่าเมื่อเด็กมีการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลัง ร่างกายจะสังเคราะห์สาร Brain Derived Neurotrophic Factor (BDNF) ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงกันในวงวิชาการว่าการออกกำลังกายในช่วงเวลาใดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ก่อนเริ่มเรียน หรือหลังเลิกเรียน? เพราะช่วงเวลาในการออกกำลังที่ต่างกันส่งผลต่อการสังเคราะห์สาร BDNF ที่ต่างกัน และยังไม่รวมถึงผลกระทบข้างเคียงอื่น ๆ ที่มีต่อร่างกายของเด็ก เช่น เด็กที่ออกกำลังกายก่อนเข้าเรียนแม้ว่ามุมหนึ่งอาจกระตุ้นให้เด็กมีความตื่นตัว แต่กระนั้น เด็กอาจจนเกิดความอ่อนเพลีย หรือความรู้สึกไม่สบายตัวจากเหงื่อไคลอาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิในการเรียน เป็นต้น

อีกหนึ่งงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารเช้าเองก็ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะทางปัญญาด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นคืองานศึกษาเรื่อง Breakfast Eating Habit and Its Influence on Attention-concentration, Immediate Memory and School Achievement ของ Gajre และคณะ (2008) ซึ่งได้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวในบริบทของประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านสมองอันเกิดจากการที่เด็กละเลยอาหารมื้อสำคัญของวันอย่างอาหารมื้อเช้า โดยในงานศึกษาได้อธิบายว่า ในอาหารเช้ามีสารอาหารที่จำเป็นต่อสมองอย่างเช่น กลูโคส (glucose) ซึ่งช่วยเลี้ยงสมอง และช่วยให้หน่วยความจำเฉพาะหน้า หรือ Immediate Recall Memory ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น เด็กที่ขาดอาหารมื้อสำคัญนี้ไป ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการเรียนในชั้นเรียนได้

ในกรณีของประเทศไทย ข้อค้นพบจาก “โครงการการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุคประเทศไทย 4.0” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยร่วมทำวิจัยกับอาจารย์อัครนัย ขวัญ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งโครงการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยงานวิจัยนี้ได้นำข้อมูล Program for International Student Assessment (PISA) โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 8,249 คน จาก 273 โรงเรียนทั่วประเทศมาทำการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ของการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารเช้าต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาซึ่งวัดผ่านการสอบ 3 รายวิชาได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาการอ่าน

ในด้านการออกกำลังกาย ผลการศึกษาพบว่า เด็กที่มีการออกกำลังกายตอนเช้า มีคะแนนสอบเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังอยู่ 40.28 คะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ 48.43 คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 49.91 คะแนนในวิชาการอ่าน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ หรืออาจกล่าวได้ว่า การออกกำลังกายในช่วงเช้าส่งผลในทางลบกับคะแนนสอบของเด็ก ในทางกลับกัน เด็กที่มีการออกกำลังกายในตอนเย็น หรือหลังเลิกเรียน จะมีคะแนนสอบเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังอยู่ 16.29 คะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ 20.11 คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 26.62 คะแนนในวิชาการอ่าน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเช่นกัน

ข้อค้นพบนี้ สามารถตอบคำถามในเบื้องต้นได้ว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย คือ “ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน” ไม่ใช่ “ช่วงเวลาก่อนเข้าเรียน”

นอกจากเรื่องช่วงเวลาในการออกกำลังกายแล้ว จำนวนวันที่ออกกำลังกาย และความเข้มข้นในการออกกำลังกาย นับเป็นอีกตัวชี้วัดที่สำคัญในการวัดคุณภาพของกิจกรรมที่ใช้พละกำลังของเด็ก โดยจากผลการวิเคราะห์ พบว่า จำนวนวันที่ออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับคะแนนสอบทั้งสามรายวิชาอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

สำหรับเด็กที่มีการออกกำลังกายแบบทั่ว ๆ ไป หรือประเภทที่ไม่ได้ใช้พละกำลังสูง เป็นประจำทุกวัน (7 วันต่อสัปดาห์) จะมีคะแนนสอบเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังเลยแม้แต่วันเดียว อยู่ 18.09 คะแนน ในวิชาคณิตศาสตร์ 14.22 คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 14.36 คะแนนในวิชาการอ่าน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่มีการออกกำลังกายประเภทใช้พละกำลังสูง (High Intensity Training) กลับมีผลลัพธ์ในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เด็กที่มีการออกกำลังกายประเภทดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน (7 วันต่อสัปดาห์) จะมีคะแนนสอบเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้ออกกำลังประเภทนี้เลยอยู่ 25.95 คะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ 34.9 คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 45.81 คะแนนในวิชาการอ่าน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

จากผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเภทของการออกกำลังมีผลอย่างสำคัญในการพัฒนาทักษะทางสติปัญญาของเด็ก หากเด็กมีการออกกำลังที่ใช้พละกำลังสูงมากเกินไป จะส่งผลในทางลบต่อตัวเด็กเองในที่สุด ดังนั้น มิใช่ว่าทุกการออกกำลังกายจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเสมอไป โรงเรียนและผู้ปกครองจึงต้องตระหนักถึงความเหมาะสม พยายามไม่จัดกิจกรรมที่ใช้พละกำลัง หรือชั่วโมงพลศึกษาไว้ในคาบเรียนช่วงเช้าของวัน และการออกกำลังไม่ควรเป็นการออกกำลังแบบใช้พละกำลังสูง เช่น ยูโด มวยไทย หรือยกน้ำหนัก

เมื่อพิจารณาในด้านการรับประทานอาหารเช้า ผลการศึกษาพบว่า เด็กที่รับประทานอาหารเช้าจะมีคะแนนสอบเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่ไม่รับประทานอาหารเช้าอยู่ 6.8 คะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ 1.38 คะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ และ 0.49 คะแนนในวิชาการอ่าน นอกจากนี้ จากการศึกษาเพิ่มเติมของคณะผู้ศึกษายังพบว่า มีเด็กไทยมากถึง 1 ใน 10 ที่ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้า โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองขนาดใหญ่ มากกว่าเด็กที่อาศัยในเมืองขนาดเล็ก หรือชนบท ซึ่งอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า วิถีชีวิตของคนเมืองที่เร่งรีบ อาจส่งผลทำให้เด็ก หรือผู้ปกครองไม่สามารถจัดสรรเวลาในการรับประทานอาหารมื้อเช้าได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงปัจจัยด้านที่ตั้งเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหารเช้า แต่ยังมีประเด็นเรื่องสถานะทางเศรษฐสังคมของเด็กด้วย โดยจากผลการวิเคราะห์ พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐสังคมต่ำส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า และมีคะแนนการสอบในวิชาต่างๆ ต่ำ ในขณะที่ เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐสังคมสูงส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กที่ได้รับประทานอาหารเช้า และมีคะแนนการสอบในวิชาต่างๆ สูง ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เด็ก “อด” อาหารมื้อสำคัญนี้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การส่งเสริมแต่เพียงอาหารสมอง แต่ขาดการพัฒนาอาหารกายที่สมบูรณ์ ทั้งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการได้รับโภชณาการอาหารเช้าที่ครบถ้วนจึงเป็นสิ่งจะเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศได้