posttoday

ช๊อคแป๊ปเดียว-ช็อคนานๆ กับการลงทุน

06 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน โดย...ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย

ปี 2563 ผ่านพ้นไปแค่เดือนเดียว ก็สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการจัดพอร์ตรองรับความผันผวนว่ามีความสำคัญเพียงใด เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมาราวกับว่าเวลาผ่านไปเป็นปีแล้วเลยทีเดียว ไม่ว่าจะการที่สหรัฐฯ เข้าไปสังหารนายพลระดับสูงของอิหร่าน การเซ็นสัญญาเฟสหนึ่งสงบศึก “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน งบประมาณประเทศไทยที่ล่าช้าอยู่แล้วเกิดอาการสะดุดจากการขาดความรับผิดชอบของใครบางคน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นและยังไม่เห็นแนวทางแก้ไขระยะยาวที่ชัดเจน ตบท้ายด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนที่ทำให้คนไทยหันมาใส่หน้ากากใส่กันทั้งเมือง

จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องไวรัสโคโรนาจะลุกลามใหญ่โตไปเพียงใด จะเป็นเหมือนในหนัง “ฮอลลีวูด” ที่มีเชื้อโรคแพร่ระบาดแล้วเปลี่ยนให้คนเป็น “ซอมบี้” ไปทั่วโลกหรือเปล่า แต่นั่นอาจจะดู “แบรด พิตต์” ไปหน่อย แต่หากเราจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และคิดว่า “History repeats itself” ทั้งเคส SARS และ MERS ก็ต้องบอกว่ามนุษย์สามารถเอาตัวรอดมาได้หากมีการจัดการควบคุมที่ดี และอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับจีน เราก็เห็นการบริหารจัดการที่ดีด้วย ไม่เพียงแค่การ “ปิด” เมืองเท่านั้น ยังขยายวงกว้างใหญ่โตออกไปเป็นการ “ปิด” ประเทศด้วย

จุดที่น่าจับตาน่าจะเป็นในช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า เพราะหากนับตั้งแต่เริ่มเทศกาลตรุษจีนที่เริ่ม “ปิด” ประเทศ ก็ล่วงเวลาเข้ามาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ใกล้เคียงกับระยะฟักตัวของไวรัสตัวนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 10-14 วัน หากผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไปก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน คนเหล่านี้ก็น่าจะค่อยๆ แสดงอาการออกมา แต่เนื่องจากการ “ปิด” ประเทศ ผู้คนเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้แพร่เชื้อออกไปให้คนอื่น ส่วนผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อก่อนหน้าเทศกาลตรุษจีนก็อาจรอดพ้นจากการติดเชื้อจากมาตรการควบคุมของทางการ หมายความว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ก็น่าจะชะลอลง ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับการควบคุมการระบาดในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องระวังการแพร่กระจาย “ระลอกสอง” ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่จีนค่อยๆ กลับมาดำเนินธุรกิจตามปรกติ รวมถึงต้องระวังการ “ลาม” ไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีความพร้อมในการจัดการด้านสาธารณสุขด้อยกว่า ซึ่งอาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายออกไปได้ในวงกว้างได้ค่อนข้างเร็ว

แต่สมมติฐานพื้นฐานของเราคือ มนุษย์เราจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายไวรัสตัวใหม่นี้ได้ การติดเชื้อน่าจะค่อยๆ น้อยลงไปเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต

หากเป็นเช่นนั้นจริง ธุรกิจต่างๆ จะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ เครื่องจากทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาหมุนตามปรกติ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิด SARS จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นอีก 4-5 เดือนถัดไปจำนวนนักท่องเที่ยวก็กลับคืนสู่จุดเดิม (หลังหักผลของฤดูกาล)

เหตุการณ์ไวรัสที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือน “ช็อค” ที่เกิดขึ้น “แป๊ปเดียว” ผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทจะมีผลระยะสั้นๆ และสุดท้ายและเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจะสามารถกลับไประดับ “ศักยภาพ” ได้ แต่ในระยะสั้นๆ นี้ การหายไปของรายได้ก็จะมีผลกระทบต่อกระแสเงินสดซึ่งไม่อาจจะติดลบได้นานนัก การเข้ามาช่วยเหลือเรื่องกระแสเงินสด (โดยที่ไม่ต้องใส่เงินสดเข้าไป) เช่น การพักชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาจ่ายภาษี จึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม

สำหรับในด้านการลงทุน “ช็อค” ระยะสั้นที่เกิดขึ้นอาจเปิดโอกาสให้ทำการซื้อ-ขายระยะสั้น (Tactical Trade) ได้บ้าง แต่ก็มีความเสี่ยงตามมา คือเสี่ยงว่าผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง (อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้) ดังนั้น การทำ Tactical ดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงบางส่วนของพอร์ตการลงทุนเท่านั้น หรือในส่วนที่เรียกว่า Satellite Portfolio เพื่อให้ผลตอบแทนระยะยาวของทั้งพอร์ตไม่เสี่ยงว่าต่างไปจากที่คาดหวังไว้นัก อย่างที่เราเห็นว่าวันหนึ่งตลาดหุ้นจีนลดลงไปเกือบ 8% แต่วันรุ่งขึ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 2% ผู้ที่ผ่านประสบการณ์มามากย่อมเข้าใจอารมณ์ “ขาย Bottom” หรือคู่แฝดอภินิหาร “ซื้อดอย” เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือการรับมือกับ “ช็อคนานๆ” หรือ “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” (จริงๆ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่ามียูนิตรูทไหม, ค่าความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยเป็นศูนย์ไหม หรือรูปแบบความสัมพันธ์เปลี่ยนไปหรือเปล่า ... แต่ก็ช่างเถอะ!) ประเด็น “ช็อคนานๆ” ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเติบโตทางเศรษฐกิจตามศักยภาพที่ดูเหมือนจะต่ำลงทั่วโลก ทิศทางเงินเฟ้อที่ออกไปทางฝืดมากกว่าเฟ้อ แนวโน้มภาษีการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น หรือที่สำคัญคือการที่ดอกเบี้ยต่ำจนกลายเป็นภาวะปรกติใหม่ (New Normal) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่ง “ช็อคนานๆ” เหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาคำนึงในการวางแผนลงทุนระยะยาว โดยเรายังต้องยึดหลักการกระจายความเสี่ยง (Diversification) และการลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่รับมือ “ช็อคนานๆ” นี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดนี้ นอกจากการดูแลสุขภาพของพอร์ตการลงทุนแล้ว ก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพด้วยนะครับ เผชิญกับทั้งฝุ่นทั้งไวรัสในช่วงนี้ อย่าลืม “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ใส่หน้ากากป้องกัน ติดตามข้อมูลข่าวสาร และระวัง “ข่าวปลอม” ด้วย และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้ครั้งนี้นะครับ สู้! สู้!