posttoday

ย้ำความสำคัญของความยั่งยืน

14 มกราคม 2563

คอลัมทันเศรษฐกิจ โดย...รศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

คอลัมทันเศรษฐกิจ โดย...รศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ในการดำเนินกิจการโดยทั่วไป ผู้บริหารจะพยายามบริหารจัดการให้ได้กำไรสูงๆ เพื่อส่งผลต่อไปให้ราคาหุ้นสูงขึ้น แล้วผู้ถือหุ้นซึ่งนับได้ว่าเป็นเจ้าของกิจการนั้นก็จะรวยขึ้น แต่หากผู้บริหารนึกถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าบริษัท แล้วบริษัทไม่มีกลไกในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ก็อาจจะทำให้บริษัทล้มในช่วงเวลาอันสั้นได้ชั่วข้ามคืน ดังตัวอย่างที่มีมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance หรือ CG) เป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการที่สำคัญและจำเป็นต้องมี เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดหรือกลไกใดก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ

นอกจากนี้ หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) โดยแต่ละบริษัทก็อาจจะมีรูปแบบของ CSR แตกต่างกันไป เราจะคุ้นเคยกับกิจกรรม CSR แจกผ้าห่มต้านภัยหนาว บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ปลูกป่าชายเลน เก็บขยะตามแหล่งท่องเที่ยว ทาสีกำแพงโรงเรียนในชนบท จ้างงานคนพิการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่ง CSR อาจจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการผลิตสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน การใช้วัตถุดิบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้จะมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น บางบริษัทจึงอาจมองว่า CSR เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับบริษัท และยังไม่เห็นว่า การบริหารงานอย่างแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการอย่างไร โดยแท้จริงแล้ว ผลของ CSR จะไม่ได้เห็นผลชั่วข้ามคืน แต่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จากการที่เราให้ความสำคัญกับพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ขาย นั่นคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระยะใกล้และไกล บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน คอยช่วยเหลือกัน คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะมีต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตต่อไปได้ด้วยกลไกสำคัญของการให้และรับ (Give & Take)

ทั้ง CG และ CSR เป็นองค์ประกอบสำคัญในหลักแนวคิดการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบของกิจการใน 3 ด้านหลัก ที่เรียกว่า ESG ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ซึ่งเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์สูงที่สุด การดำเนินกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ด้านสังคม (Social) จะมุ่งที่เสถียรภาพของสังคม ความเท่าเทียมกัน การรักษาวัฒนธรรม และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) บริษัทควรมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการกำหนดนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและกิจการ ทำให้แนวคิดการสร้างความยั่งยืนให้กับกิจการนี้ (Sustainability) จึงควรเป็นเรื่องที่นักลงทุนพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

ในประเทศไทยได้มีการให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งการพิจารณาให้รางวัลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และรางวัลด้านความยั่งยืน กับบริษัทที่นับได้ว่าเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่น ๆ ได้ การผลักดันให้บริษัทจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน การสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยในการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Index หรือ DJSI ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จจากการที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ริเริ่มให้มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) โดยคัดเลือกหุ้นที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จนถึงปัจจุบันนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นดัชนีความยั่งยืน SETTHSI เป็นของตัวเอง เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้เป็นข้อมูลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว นอกเหนือไปจากนี้ยังมีบริษัทจัดการลงทุนที่ได้นำเสนอกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในหุ้นยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของความยั่งยืนของกิจการ

หากทุกกิจการเห็นความสำคัญและดำเนินกิจการตามแนวคิดของความยั่งยืนแล้ว โลกนี้จะน่าอยู่ขึ้น ในการพิจารณาลงทุน นักลงทุนจึงควรพิจารณาประเด็นความมั่นคงและยั่งยืน นอกเหนือจากเรื่องผลตอบแทนด้วย เพราะกลไกการบริหารงานเพื่อสร้างกำไรและมูลค่ากิจการ โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม บริหารงานตามกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นและสังคม จะส่งผลให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว เพราะเรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นผลทันตา แต่หากคิดว่าไม่สำคัญ อาจจะได้เห็นผลทันใจ