posttoday

การบริหารเงินรับปีใหม่

10 มกราคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ในช่วงปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่หลายคนทบทวนสิ่งต่างๆที่ผ่านไปและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้น สำหรับเรื่องการเงินก็เช่นเดียวกันการบริหารเงินในอดีตย่อมส่งผลต่อสถานการณ์ด้านการเงินของเราในปัจจุบัน ดังนั้นปีใหม่นี้เหมาะกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าในอดีตจะเป็นอย่างไร วันนี้เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. จึงมีเทคนิคการบริหารเงินรับปีใหม่ 5 เรื่องที่สำคัญมาฝากกันดังนี้

1. จัดการค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการบริหารเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ทำได้โดยสำรวจรายจ่ายของตนเองจากอดีตที่ผ่านมาว่ามีรายจ่ายใดบ้างที่จำเป็นต้องจ่ายประจำทุกเดือน มีรายการใดบ้างไม่จำเป็นที่สามารถปรับลดได้ ให้รีบลงมือตั้งเป้าลดรายจ่ายเหล่านี้หรือตั้งเป้าควบคุมรายจ่ายไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน เพื่อทำให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น

ส่วนรายจ่ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่ เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าเทอมลูก เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งหากถึงช่วงเดือนที่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ ถ้าไม่ได้เตรียมเงินไว้อาจทำให้มีอาการ “เงินช็อต” ดังนั้นแนะนำให้จดรายการเหล่านี้ออกมา แล้ววางแผนการออมให้สอดคล้องกับจำนวนเงิน และระยะเวลาที่ต้องจ่ายจะช่วยให้เรามีเงินเพียงพอกับรายจ่ายเหล่านี้

2. เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เมื่อสามารถจัดการกับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้แล้ว เป้าหมายสำคัญต่อมาคือการมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินสำหรับถอนใช้ได้เมื่อจำเป็นจะได้ไม่เกิดปัญหาสภาพคล่อง หรือจะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน แนะนำว่าควรมีเงินสำรองประมาณ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ตัวอย่าง ถ้ามีรายจ่ายประจำต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ควรจะมีเงินก้อนนี้ประมาณ 30,000 บาท ถึง 60,000 บาท แนะนำให้เก็บไว้ในบัญชีที่จะสามารถถอนมาใช้ได้เมื่อต้องการใช้เงิน เช่น บัญชีออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

3. จัดการความเสี่ยง นอกจากจะมีเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว ควรวางแผนจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น กรณีเสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือกรณีเจ็บป่วยต้องใช้เงินเพื่อเป็นค่ารักษาจำนวนมาก เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ยากต่อการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร หากเกิดขึ้นฉับพลันอาจจะส่งผลให้ครอบครัวเดือดร้อนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินแทนเรา

ดังนั้นควรตรวจสอบทุนประกันชีวิตและประกันต่างๆ ที่ควรมี ด้วยการทบทวนกรมธรรม์ทุกฉบับที่มี ทบทวนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของที่ทำงาน เปรียบเทียบกับภาระหนี้สินหรือภาระค่าใช้จ่ายต่างๆที่เรากังวลหากจากไปก่อน ถ้าเปรียบเทียบแล้วไม่เพียงพอควรซื้อประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันทรัพย์สินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมวงเงินคุ้มครองที่ต้องการ

4. เริ่มต้นลงทุน นอกจากการออมเงินให้ได้แล้วควรนำเงินออมไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้วย เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปเงินออมจะมีมูลค่าน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี หรือที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” นั่นเอง ดังนั้นไม่ควรรีรอเริ่มต้นลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินออมมีมูลค่ามากขึ้น ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนมาก่อนควรศึกษาการลงทุนแบบง่ายๆ ด้วยกองทุนรวมก่อน นอกจากใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนน้อยแล้วยังมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลการลงทุนให้ แนะนำให้เปิดบัญชีกองทุนรวมและเริ่มต้นลงทุนกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน เช่น กองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ เพื่อเรียนรู้กลไกการลงทุน วิธีการซื้อขายหน่วยลงทุน ทำให้เพิ่มประสบการณ์การลงทุนให้กับตนเอง หากมีความเข้าใจมากขึ้นจึงพิจารณาเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้มากขึ้น

5. วางแผนลงทุนแบบมีเป้าหมาย การกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุนที่ชัดเจนจะทำให้สามารถเลือกเครื่องมือการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่าง เป้าหมายเตรียมเงินเพื่อเกษียณ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของทุกคนเนื่องจากเมื่อถึงวัยเกษียณรายได้ที่มีน้อยลงแต่มีรายจ่ายมากขึ้น หากเตรียมเงินไว้ไม่พอจะทำให้ใช้ชีวิตยากลำบากได้ เครื่องมือที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้นอกจากจะมีเงื่อนไขที่ช่วยทำให้เรามีวินัยในการออมหรือลงทุนสม่ำเสมอแล้ว ยังมีรูปแบบหรือนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายตามช่วงอายุและความเสี่ยงที่รับได้ เช่น ประกันแบบบำนาญ เหมาะกับผู้ที่ต้องการรู้ยอดเงินที่จะได้รับเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนและต้องการความคุ้มครอง ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นการลงทุนเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนสม่ำเสมอเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้

สำหรับสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในแต่ละปี สมาชิกควรทบทวนเป้าหมายการเกษียณด้วยการประมาณการว่าต้องการมีเงินก้อน ณ วันเกษียณเป็นจำนวนเท่าไร เปรียบเทียบกับประมาณการเงินก้อน กบข. ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเกษียณว่าเพียงพอหรือไม่ โดยใช้โปรแกรมคำนวณใน My GPF Application เมนู “แผนเกษียณของฉัน” หากต้องการวางแผนให้มีเงินยามเกษียณมากขึ้นเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีมากยิ่งขึ้น ควรรีบปรับสัดส่วนการออมเพิ่ม ซึ่งสมาชิกสามารถเลือกออมเพิ่มได้สูงสุดอีก 12% รวมกับสะสมตามกฎหมาย 3% เป็นสูงสุด 15% ของเงินเดือน และควรเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น โดยแจ้งความประสงค์ออมเพิ่มและเลือกแผนการลงทุนที่ เมนู “บัญชีของฉัน” ใน My GPF Application ได้เช่นกัน

เราไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่ถ้าอยากให้อนาคตเป็นไปอย่างที่เราตั้งใจต้องเริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่วันนี้ สำหรับสมาชิก กบข. หากต้องการคำแนะนำด้านการบริหารเงินหรือสอบถามข้อมูลด้านการเงินอื่น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจสามารถติดต่อศูนย์ข้อมูลการเงินได้ที่ เมนู นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน ใน My GPF Application