posttoday

4ทางเลือกลงทุน รับมือภาษีตราสารหนี้

31 กรกฎาคม 2562

โดย...กัญชพร ลามอ ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคล AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

โดย...กัญชพร ลามอ ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคล AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

ในยุคที่แนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ มิหนำซ้ำการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมก็โดนเก็บภาษี แล้วจะไปลงทุนอะไรดี วันนี้มี 4ทางเลือกการลงทุนมาฝากค่ะ

จากการประกาศกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเก็บภาษีตราสารหนี้จากกองทุนรวม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ผลของการจัดเก็บภาษีจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนน้อยลง เพราะรายได้จากดอกเบี้ยรับจะถูกหักภาษี 15% ยิ่งถ้ากองทุนมีการลงทุนและได้รับดอกเบี้ยในสัดส่วนที่มากเท่าไร ผลกระทบก็จะมากขึ้นตาม และกองทุนที่กระทบมากที่สุดคงไม่พ้นกองทุนตลาดเงินและกองทุนตราสารหนี้

นักลงทุนหลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วจะลงทุนต่อไปดีหรือไม่ หรือจะไปลงทุนอะไรดี

ต้องทำความเข้าใจแบบนี้ว่า ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเฉลี่ยที่ 1.6-2.0% เมื่อเก็บภาษีก็ทำให้ผลตอบแทนลดลงไปอีก แต่หากลองเปรียบเทียบกับเงินฝากประจำจะพบว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ยังคงน่าสนใจกว่า ทั้งในมุมผลตอบแทนหลังหักภาษีและสภาพคล่องที่สามารถขายคืนได้ทุกวัน แต่ถ้าคิดว่าผลตอบแทนยังดูน้อยไป ก็ต้องขยับไปหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องยอมรับคือความเสี่ยงจะสูงขึ้นด้วย (ตามหลัก High Risk/High Return) ในครั้งนี้จึงขอนำเสนอ 4 ทางเลือกในการลงทุน เพื่อชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงจากภาษีตราสารหนี้

4ทางเลือกลงทุน รับมือภาษีตราสารหนี้



ทางเลือกที่ 1ลงทุนในหุ้นกู้โดยตรง

หุ้นกูู้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก แต่อยากได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมากกว่าเงินฝาก ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจะผกผันตามอันดับ Credit Rating ที่สะท้อนความเสี่ยงของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ดอกเบี้ยเฉลี่ยของหุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ระหว่าง 3.0-6.5% ต่อปี โดยกลุ่มลงทุนได้ หรือ “Investment Grade” (AAA ถึง BBB-) มักให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือ "High Yield Bond" ซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูงเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน เนื่องจากเป็นการลงทุนโดยตรง ดังนั้นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดคือตัวนักลงทุนเอง ก่อนการลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียดทั้งลักษณะ ผลตอบแทน เงื่อนไขและอายุของหุ้นกู้ รวมถึงสภาพคล่องซึ่งอาจจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งผู้ลงทุนควรแยกเงินลงทุนก้อนนี้ไว้เป็นการลงทุนระยะยาว

ทางเลือกที่ 2 กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

ลงทุนโดยตรง คือผู้จัดการกองทุนไทยลงทุนเองโดยตรงใน เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ ในต่างประเทศ ซึ่งลักษณะนี้กองทุนรวมจะถูกเก็บภาษีตราสารหนี้
ลงทุนทางอ้อม ผ่านหน่วยลงทุนหรือกองทุนต่างประเทศ มี 2 แบบ คือ

-แบบ Feeder Fund ลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว

-แบบ Fund of Funds ลงทุนในกองทุนหลายกองทุน

ซึ่งกองทุนหลัก (Master Fund) จะมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่หลากหลาย เช่นลงทุนใน Global Bond หรือ High Yield Bond ทั่วโลก ซึ่งมีจุดเด่นคือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งแบบ Feeder Fund และ Fund of Fund และถือเป็นการกระจายการลงทุนที่มีมืออาชีพบริหารให้ จึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสมกับนักลงทุนที่รับความผันผวนในหุ้นไม่ได้ แต่ต้องการผลตอบแทนเพิ่มจากการกระจายการลงทุนในต่างประเทศ โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และหลายกองทุนยังมีข้อจำกัดสำหรับรายย่อยที่ไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง เช่น Unrated Bond (ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ) เพราะหากเกิดความเสียหาย ก็อาจเสียหายได้มากเมื่อเทียบกับฐานะและทรัพย์สินที่มี

ทางเลือกที่ 3 กองทุนผสม หรือ Balanced Fund ขยับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทน

กองทุนผสมมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น หรือสินทรัพย์อื่นๆ ในสัดส่วนที่พอเหมาะตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนและนโยบายการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง โดยจะมีการปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แค่ระดับหนึ่ง แต่อยากได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 3ปี อยู่ที่ประมาณ 3-7% ต่อปี เช่นกองทุนผสมที่ติดอันดับ Morningstar อย่างกองทุนB-SENIOR, K-PLAN 2, K-PLAN 3, K-GAโดยหากนักลงทุนไม่เคยลงทุนกองทุนเสี่ยงเลย ควรเริ่มจากกองทุนรวมผสมที่มีสัดส่วนของหุ้นต่ำๆก่อนเพื่อสร้างความคุ้นเคย หลังจากที่เริ่มมีประสบการณ์และความรู้ด้านการลงทุนที่มากขึ้นจึงค่อยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อไป

ทางเลือกที่ 4 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ Property Fund

ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วจากแนวโน้มของผลตอบแทนที่ดี อีกทั้งยังทนทานต่อความผันผวน โดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ที่สม่ำเสมอจากการเติบโตของรายได้ค่าเช่า โดย Dividend Yield ของประเทศต่างๆยังดูน่าสนใจ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 -5.3% ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอ(เงินปันผล) อีกทั้งเป็นการลงทุนที่มีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนดีต่อเนื่อง จากการการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจคือกองทุนจะมีนโยบายการลงทุนกระจุกตัวเฉพาะ Property Secter และหากมีการลงทุนในต่างประเทศก็ยังมีเรื่องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ยังได้รับยกเว้นภาษีแม้จะมีการลงทุนในตราสารหนี้ คือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งถือเป็นช่องทางการลงทุนที่ได้ประโยชน์ทั้งในมุมการประหยัดภาษีเงินได้และที่ปลอดภาระภาษีตราสารหนี้ โดยเรื่ิองต้องคำนึงถึงคือสภาพคล่อง

จะเห็นได้ว่าทุกทางเลือกนั้นมีทั้งมุมที่ดีและมุมที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมเป็นพิเศษ นักลงทุนที่อยากได้ผลตอบแทนมากขึ้น ก็ต้องแลกมากับการรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาบ้าง เพราะทุกการลงทุนจะมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ แต่ใช่ว่าทุกความเสี่ยงต้องหลีกเลี่ยงเสมอไป เพราะหากเราศึกษาข้อมูลการลงทุนในมิติที่หลากหลายมากขึ้นและใช้การจัดสรรการลงทุนหรือAsset Allocation กระจายการลงทุนในพอร์ตลงทุนของตัวเองให้ดี จะช่วยให้เราประเมินและตัดสินใจบนความเข้าใจในการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ที่อย่างน้อยสามารถชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากภาษีกองทุนตราสารหนี้ได้ไม่มากก็น้อย