posttoday

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล คุณหมอนักบริหาร

20 ธันวาคม 2559

หญิงเก่งแห่งวงการเวชศาสตร์ชะลอวัย พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล วัย 39 ปี หรือหมอผิง

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

หญิงเก่งแห่งวงการเวชศาสตร์ชะลอวัย พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล วัย 39 ปี หรือหมอผิง ที่หลายคนรู้จักในฐานะกูรูด้านสุขภาพ แต่ชีวิตจริงเธอมีหลายด้าน ทั้งบทบาทคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ชะลอวัยซึ่งเป็นภารกิจหลักประจำวัน เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และอีกบทบาทที่เกิดจากความชอบส่วนตัว กับการเป็นนักเขียน นักแปล และเจ้าของสำนักพิมพ์พลีสเฮลท์ โซลูชั่น ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเห็นความสำคัญของสุขภาพตั้งแต่วัยรุ่น ในสไตล์การเขียนที่ย่อยเรื่องแพทย์ให้เป็นเรื่องง่าย แบบที่เด็กและผู้ใหญ่อ่านแล้วเข้าใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

คุณหมอ

อาชีพแรกของเธอคือ หมอ หมอผิงจบการศึกษาระดับแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาตจวิทยา ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐ และได้เลือกศึกษาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยโดยตรงจากสถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัยแห่งสหรัฐ

เธอเริ่มทำงานจากการเป็นหมอใช้ทุนที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และเมื่อจบการศึกษาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เธอก็ได้กลับมาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จนถึงตอนนี้

“หมอรู้สึกว่าโรคทั้งหลายมีสาเหตุจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตค่อนข้างเยอะ” หมอผิง กล่าว “โรคในกลุ่มปัจจุบันที่เป็นโรคในกลุ่มเอ็นซีดี เช่น โรคเบาหวาน ความดัน อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง มันเป็นโรคของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งโรคเหล่านี้พันธุกรรมก็มีส่วน แต่สิ่งที่มีส่วนมากๆ คือไลฟ์สไตล์ หรือการเลือกใช้ชีวิตของเราเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนที่หมอเรียนยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้ การตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของคนไทยน้อยมาก เรายังไม่มีคำว่าอาหารคลีนเกิดขึ้น ยังไม่มีรายการวิ่งทุกเดือนอย่างตอนนี้ หมอจึงคิดว่าศาสตร์การชะลอวัยน่าสนใจ

ประกอบกับเรื่องของความสวยความงาม เรามักมองแต่ภายนอก แต่จริงๆ แล้วการที่ผิวพรรณจะดี มันต้องดูแลตั้งแต่ภายใน เรามักจะรอให้แก่ก่อน เห็นริ้วรอยแรกแล้ว เห็นผมหงอกแรกแล้วถึงจะเริ่มมาดูแลไม่ให้ตัวเองแก่ แต่จริงๆ เราต้องดูแลตั้งแต่โตเป็นสาว เหมือนกับออมก่อนรวยกว่า ถ้าเราดูแลก่อนก็จะส่งผลดีมากกว่า ซึ่งหมอว่าเรื่องเหล่านี้น่าสนใจ เพราะโดยส่วนตัวหมอเองเป็นคนชอบทำอาหาร ชอบรับประทานอาหารสุขภาพ มีความสุขกับการรับประทานอาหารดี ชอบออกกำลังกาย เลยคิดว่าศาสตร์เหล่านี้เราเรียนเองและทำเองด้วย มันเป็นสิ่งที่สนุกมากๆ”

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล คุณหมอนักบริหาร

 

เธอยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงคำว่าการชะลอวัย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องความสวยความงาม คนไข้ของเธอส่วนใหญ่จึงจะมารับการรักษาเรื่องริ้วรอย ผิวพรรณ หรือบางคนภายนอกดูดีอยู่แล้วแต่มาหาหมอเพื่อต้องการทราบหลักการกินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย หรือโปรแกรมการออกกำลังกายที่ถูกต้องเฉพาะคน กล่าวคือ ศาสตร์ชะลอวัยไม่ได้พูดถึงแค่ใบหน้าเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทั้งหมดของร่างกายหรือสุขภาพองค์รวม

“มันคือเวลเนส (Wellness) หรือการทำอย่างไรให้สุขภาพดี” หมอผิงสรุป “การเป็นหมอมา 6 ปี ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้คนที่สุขภาพดีอยู่แล้วมีสุขภาพดีต่อไป เพราะสัดส่วนระหว่างคนป่วยกันคนไม่ป่วยในโลก เรามีคนสุขภาพดีมากกว่า หน้าที่ของหมอคือจะทำอย่างไรให้คนส่วนมากเหล่านั้นห่างไกลจากโรคได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรงต่อไปได้ ซึ่งหมอว่าเรื่องเหล่านี้มันส่งผลดีต่อคนมาก”

หมอผิง เผยว่า สำหรับคนไทยปัญหาที่พบมากที่สุดคือความอ้วน จากการที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการคนไทยไร้พุง ทำให้ทราบว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนอาหารและเปลี่ยนการใช้ชีวิต จากเดิมคนไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการเคลื่อนไหวมาก กินอาหารที่ปลูกเอง แต่ตอนนี้กลายเป็นสังคมที่นั่งอยู่เฉยๆ และรับประทานอาหารตะวันตกมากขึ้น การออกกำลังกายระหว่างวันน้อยลง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

“คนสมัยก่อนพอมีอะไรก็จะเดินไปข้างบ้าน แต่เดี๋ยวนี้มีอะไรก็ไลน์หากัน อย่างหมอ หมอจะไม่มีเบอร์เลขาฯ ในห้องทำงาน เพราะถ้ามีเรื่องอะไรหมอก็จะเดินไปหา เป็นการกลั่นแกล้งตัวเองให้เดิน”

เธอให้ความรู้ด้วยว่า พฤติกรรมทุกอย่างส่งผลต่อสุขภาพ อย่างถ้าออกกำลังกายหนักแต่รับประทานอาหารไม่ดี ก็ใช่ว่าสุขภาพจะดี หรือถ้ากินดี ออกกำลังกายดี แต่เป็นคนเครียดตลอดเวลา ก็ผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีพร้อมกับสุขภาพจิตที่ดี คือสองสิ่งสำคัญที่ทำให้มีชีวิตดีและมีความสุข หลักสำคัญมีอยู่เท่านี้เอง

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล คุณหมอนักบริหาร

 

ผู้บริหาร

หมอผิงได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีหน้าที่ดูแลในส่วนที่ถนัดทั้งด้านการชะลอวัย เวลเนสเซ็นเตอร์ (ส่วนเช็กอัพ) และวีเมน เฮลท์ เซ็นเตอร์ (ส่วนของสุขภาพสตรี) ซึ่งนอกจากหน้าที่บริหาร เธอก็ยังคงเป็นหมอด้านการชะลอวัย และยังตรวจคนไข้อยู่เหมือนเดิม

“หน้าที่ของโรงพยาบาลคือเราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีที่สุดสำหรับคนไข้ เราประชุมกันถึงปัญหา วิธีการแก้ไข และการพัฒนา แบบนี้ซ้ำๆ ไปทุกวัน หมอเชื่อว่าทุกองค์กรมีปัญหาให้คิดทุกวัน เราต้องหาปัญหาที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น แล้วมาเบรนสตอร์มกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

ตำแหน่งผู้บริหารจึงเป็นบทบาทใหม่และท้าทาย โดยแต่ละวันเธอไม่เคยนับชั่วโมงทำงาน เพราะเมื่ออยู่ที่โรงพยาบาลเธอทำหน้าที่เป็นคุณหมอและผู้บริหาร และเมื่ออยู่บ้านเธอก็ยังทำงานเป็นนักเขียน เป็นบรรณาธิการ และต้องดูแลสำนักพิมพ์

นักเขียน

“การเขียนหนังสือถือเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของหมอ” เธอกล่าวถึงชีวิตอีกด้านที่ทุ่มเทให้กับหนังสือ “การที่เราได้นั่งเงียบๆ แล้วเขียน มันเหมือนกับเราได้รีแลกซ์ ได้ออกจากบทบาทความเป็นหมอบ้าง”

เธอสารภาพว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่เครียดจริง เพราะเป็นอาชีพที่ต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ตลอดเวลา หากไม่สมบูรณ์แบบอาจหมายถึงการสูญเสียอะไรบางอย่างของคนไข้ ซึ่งแม้ตัวงานจะเครียด แต่เธอไม่ไปเครียดกับงาน แต่ทำงานด้วย "จิตว่าง" คือทำไปตามกระบวนการ แต่ไม่ใส่อารมณ์ร่วม

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล คุณหมอนักบริหาร

 

“ตอนเป็นหมอช่วงแรกๆ มันจะยังมีไฟเยอะมาก รู้ว่ามันมีข้อน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการแพทย์ ถ้าเราเขียนเล่าให้มันง่ายขึ้นในเรื่องของการดูแลตัวเอง ก็น่าจะช่วยให้คนไข้มีสุขภาพดีขึ้นได้ หมอเลยลองเขียนต้นฉบับดูแล้วส่งให้สำนักพิมพ์ และสุดท้ายได้ตีพิมพ์ออกมาจริงๆ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้หมอมีแรงเขียนต่อไปเรื่อยๆ” เธอกล่าวถึงจุดเริ่มต้น

ผลงานเล่มแรกวางขายเมื่อปี 2551 กับเรื่อง Anti-aging สูตรลับชะลอวัย จากนั้นเล่มสองได้ออกตามมาติดๆ เรื่อง Anti-aging สวยปิ๊งสมองไบรท์ จนถึงปัจจุบันหมอผิงได้ฝากผลงานพ็อกเกตบุ๊กแนวสุขภาพไว้ 14 เล่ม อาทิ ผอมได้ไม่ต้องอด เคมีรักระหว่างเรา เลิกลดแล้วจะผอม อ่านแล้ว Young และ Microbiota อวัยวะที่ถูกลืม เป็นต้น

“กลายเป็นว่าติดลมอยากเขียน” เธอสารภาพ และจากที่ชอบเขียน ตัวหนังสือได้จุดประกายให้เธอคิดอยาก "ทำ" หมอผิงจึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์พลีสเฮลท์ โซลูชั่น (PleaseHealth Solutions) เพื่อผลิตหนังสือของตัวเอง เล่มแรกเรื่อง อยู่แล้ว Young ได้กระแสตอบรับดีเกินคาด ทำให้ทำไปทำมาเริ่มมีนักเขียนคนอื่นเข้ามาจนสำนักพิมพ์กลายเป็นธุรกิจส่วนตัวที่สามารถสร้างรายได้และตอบโจทย์ความชอบส่วนตัว

“ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นจากความชอบล้วนๆ”

นอกจากนี้ เธอยังเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อต่างๆ รวมถึงเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ Thidakarn ที่มีคนตามกว่า 2 แสนคน และอินสตาแกรม @Thidakarn ที่ให้ไอเดียเรื่องการทำอาหารคลีนด้วยตัวเอง

กิจวัตรประจำวันอันน่าทึ่งของคนงานยุ่งอย่างหมอผิง เริ่มตั้งแต่ตี 5 เธอตื่นมาวิ่งออกกำลังกาย ทำอาหารเช้า ประชุมที่โรงพยาบาล (ทุกวัน) ทำงานบริหาร ออกตรวจคนไข้ จากนั้นกลับบ้าน ทำงานด้านสำนักพิมพ์ต่อ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ และเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ หรืออย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง ส่วนการดูแลสุขภาพใจ เธอเน้นการฟังและอ่านธรรมะด้วยแนวคิด “เพราะชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ เวลาสุขก็อย่าสุขมาก และเวลาทุกข์ก็อย่าทุกข์มาก เพราะสุขทุกข์เรามีสลับกันไป ไม่มีอะไรอยู่กับเราอย่างถาวร”

อันเป็นเคล็ดไม่ลับให้หมอผิงยังสาวและสุขภาพดี สมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ชะลอวัย