posttoday

พิชญา อุทารธรรม Chef’s Table ฝีมือเลิศล้ำ

23 กันยายน 2559

แพม-พิชญา อุทารธรรม ได้ชื่อว่าเป็นเชฟรุ่นใหม่ที่ฝีมือในการสร้างสรรค์อาหารสไตล์ฝรั่งเศสต้องบอกว่าลึกล้ำเกินวัย

โดย....แมงโก้หวาน ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

แพม-พิชญา อุทารธรรม ได้ชื่อว่าเป็นเชฟรุ่นใหม่ที่ฝีมือในการสร้างสรรค์อาหารสไตล์ฝรั่งเศสต้องบอกว่าลึกล้ำเกินวัย หากใครที่ติดตามไอจีและเฟซบุ๊กของเธอก็จะเห็นว่าแต่ละเมนูที่เชฟแพมรังสรรค์ขึ้นมา นอกจากหน้าตาสีสันจะสวยเก๋และดึงดูดสายตาคนให้เกิดอยากชิมแล้ว รสชาติอาหารก็ไร้ที่ติ ใครที่เคยได้ลิ้มรสคงบอกได้ดีที่สุด และคงรู้สึกถึงความคุ้มค่าสมกับที่วางใจให้เธอจัดแจงมื้อพิเศษให้

เชฟแพมไม่ได้เปิดร้านอาหาร แต่เลือกทำ Chef’s Table ที่บ้านในซอยสุขุมวิท 33 มาหลายปีตั้งแต่เรียนจบจาก The Culinary Institute of America หรือ CIA (นิวยอร์ก สหรัฐ) แต่บอกได้เลยว่าห้องอาหารที่มีอยู่ 1 โต๊ะสำหรับ 12 คน ที่เธอจัดรับรองลูกค้านั้นน่านั่งมาก โต๊ะอาหารจัดแต่งอย่างหรูเหมือนในโรงแรม บรรยากาศดี เป็นห้องกระจกที่พอมองออกข้างนอกก็จะรู้สึกสดชื่น เพราะมีสวนที่ตกแต่งสวยงาม อีกทั้งนอกห้องอาหารยังมีที่นั่งให้ลูกค้าได้พูดคุย ผ่อนคลาย ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถแสนสบาย ในส่วนของครัวก็สุดเดิร์น กว้างขวาง มีมุมโซฟารับรองหากลูกค้าจะมานั่งดูการทำของเธอ

“ความจริงก็อยากเปิดร้านอาหารของตัวเองนะคะ แต่คุณแม่จะบอกว่าถ้าเปิดก็ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน จ่ายค่าพนักงาน และอื่นๆ แล้วไม่รู้จะมีลูกค้ามารับประทานเยอะทุกวันหรือเปล่า ยิ่งทุกวันนี้รู้สึกว่าร้านอาหารที่ไม่แพงมากแล้วมันชิกๆ มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถ้าทำร้านก็อาจอยู่ยาก แต่ด้วยความที่รักการทำอาหารจึงเลือกทำเป็นเชฟเทเบิ้ล คือให้คนจองเข้ามาแล้วค่อยไปซื้อหรือเตรียมของ”

พิชญา อุทารธรรม Chef’s Table ฝีมือเลิศล้ำ

เชฟแพม เล่าว่า การทำ Chef’s Table ลูกค้าจะได้รับประทานอาหารด้วยวัตถุดิบที่สดใหม่ เช่น จะรับประทานในวันพรุ่งนี้ตอนเช้าของวันนั้นก็จะไปซื้อของ ขณะเดียวกันเชฟเองก็สามารถให้ความรู้เรื่องอาหารที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแต่ละเมนูไปพร้อมกับการแสดงการทำอาหารให้ลูกค้าได้รับรู้เรื่องราวของอาหารผ่านสัมผัสทั้งห้า หรือถ้าลูกค้าอยากรู้เกี่ยวกับเมนูอาหารนั้นๆ ขณะกำลังรับประทานก็สามารถพรีเซนต์ให้ลูกค้าได้ความรู้ไปด้วย 

ลูกค้าที่อยากรับประทานฝีมือของเธอ สามารถจองโต๊ะเข้ามาล่วงหน้า 1 อาทิตย์ กำหนดที่ 6-12 คน โดยอินบ็อกซ์เข้ามาที่ Facebook : Chef Pam และ Instagram : the.table.bychefpam สำหรับลูกค้าที่ต้องการให้ไปทำครัวจัดเสิร์ฟที่บ้านของตัวเองก็กำหนดที่ 6-12 คนเช่นกัน เพราะเธอสามารถคุมคุณภาพอาหารได้ และทำให้ลูกค้าได้ทัน

“อาหารจะเสิร์ฟเป็นคอร์สทั้งหมด 7 คอร์ส แต่ละคอร์สก็จะให้ลูกค้าเลือกว่าอยากได้อะไร หรือจะปล่อยให้เชฟทำเลยก็ได้ แต่ให้บอกว่าไม่รับประทานอะไร หรือแพ้อะไรจะได้เตรียมถูก แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะให้แพมจัดให้หมดเลย ส่วนราคาเริ่มต้นที่ 2,500-4,000 บาท ขึ้นกับว่าลูกค้าอยากได้อะไร เช่น ถ้าอยากได้คาเวียร์หรือล็อบสเตอร์ชั้นดีก็อาจจะแพงขึ้นมาหน่อย”

พิชญา อุทารธรรม Chef’s Table ฝีมือเลิศล้ำ

 

สำหรับเมนูที่ลูกค้าชอบสั่ง เธอบอกว่ามีหลายเมนู อาทิ Beef Wellington อันนี้คลาสสิก อร่อย หารับประทานยาก อบสดๆ ออกจากเตาก็หั่นให้ลูกค้าเลย หรือแม้แต่ Tuna Carpaccio ที่ทำในวันนี้ก็ถูกใจลูกค้าเป็นพิเศษ โดยทูน่าจะสไลซ์บางๆ และตัดเป็นรูปวงกลม วางลงบนจานและทาด้วยซอร์สเคเปอร์ บีบมะนาวเหลืองและโรยด้วยเกล็ดขนมปังกรอบ เรียงแรดิชแดงและเซเลอรี่ให้สวยงาม จากนั้นตกแต่งด้วย Micro Herb จบด้วยมินต์ออย

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าฝีมือการทำอาหารของเธอลึกล้ำโดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศส นั่นเพราะเธอรักการทำอาหารตั้งแต่เด็ก และรักจริงถึงขนาดตอนเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ ปี 3 ก็ไปสมัครเรียนที่เลอ กอร์ดอง เบลอ จากนั้นได้ไปเรียนที่ CIA 2 ปี แต่การที่จะเข้าเรียนใน CIA ได้ต้องทำงานในครัวอย่างน้อย 6 เดือน จึงไปฝึกงานที่ไฮแอทเอราวัณ 2 เดือน และ 4 เดือนที่ร้านเลอ โบลิเยอ (Le Beaulieu) สุขุมวิท 19 (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) กับเชฟฝรั่งเศส แอร์กเว แฟร์รารด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้านคาเฟ่ ปารีเซียง

พิชญา อุทารธรรม Chef’s Table ฝีมือเลิศล้ำ

 

เกียรติประวัติเชฟแพม

ตอนฝึกงานที่เลอ โบลิเยอ เจ้าของร้านเห็นแววจึงส่งไปแข่งขันทำอาหารรายการ Asia’s Youth Hope Cooking Competition 2011 กับ 7 ประเทศเอเชีย ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ และคว้ารางวัลชนะเลิศปี 2012 เป็นตัวแทนเอเชียไปแข่ง The Escofier World Cup กับเชฟยุโรปที่ฝรั่งเศส ได้ที่

2 หลังจากนั้นจึงไปเรียนที่ CIA หลังเรียนจบได้วีซ่าทำงานที่สหรัฐ 1 ปี ได้สมัครงานที่ร้านมิชลินสตาร์ (3 ดาว) “ชอง-จอร์จส์”(Jean-Georges) ของ ชอง-จอร์จส์ วงเชอริกเทนซึ่งเขาเคยอยู่ในเอเชีย 10 กว่าปี โดยอยู่เมืองไทย6 ปี ที่ห้องอาหารฝรั่งเศส เลอ นอมังดี ที่โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล

การทำงานในร้านของ ชอง-จอร์จส์ ทำให้เธอตกหลุมรักอาหารฝรั่งเศสมากถึงวันนี้