posttoday

‘อีอีซี’ ผนึกอว.ปั้นแรงงาน 5 แสนคนป้อน 12 อุตฯเป้าหมาย

14 มีนาคม 2565

‘อีอีซี’ เร่งสร้างแรงงานรับลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ดึงสถาบันขงจื้อสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน อิงโมเดล Sandbox เชื่อมไทย - จีน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยในการประชุมผู้บริหารระดับสูง (High-Level Meeting) การศึกษาและการพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ว่า เพื่อเป็นการเร่งสนับสนุนพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการลงทุนของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะมีความต้องการสูงถึง 564,176 คน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สกพอ. จึงได้พัฒนาแนวทางการศึกษาและพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้แนวคิด อีอีซีโมเดล เพื่อมาใช้พัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ โดยได้นำประสบการณ์การพัฒนาบุคลากรของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสถาบันขงจื้อฯ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับตำแหน่งงาน (Demand-Driven Education) ที่เน้นตอบสนองความต้องการกำลังคน

ทั้งนี้ได้ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการศึกษา ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรไปจนถึงการฝึกงานจริงในโรงงาน เพื่อให้ผู้เรียนจบสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางอีอีซี โมเดล ดังกล่าว ได้เป็นต้นแบบ (Sandbox) ในพื้นที่แล้ว ซึ่งเกิดผลสัมฤทธิ์และปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบในหลายมิติ ได้แก่ ด้านการฝึกอบรม โดย EEC HDC ได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 15,267 คน แบ่งเป็นรูปแบบเอกชนร่วมจ่าย 100% (Type A) จำนวน 5,002 คน และการฝึกอบรมระยะสั้น รัฐและเอกชนร่วมจ่าย 50% (Type B) จำนวน 10,265 คน

ขณะที่ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายอบรมคนเพิ่มสูงถึง 56,595 คน ด้านการรับรองหลักสูตร สนับสนุนให้สถานศึกษา ได้รับองค์ความรู้ใหม่จากเอกชน โดยได้ร่วมกันเสนอหลักสูตร (Co-Endorsement) ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติแล้วกว่า 150 หลักสูตร และด้านศูนย์ข่ายการพัฒนากำลังคนในอีอีซี ได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์ Automation Training Center 4 แห่งแล้ว อาทิ อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค ARAI Academy & Univertory โดย SNC Former ระยอง และร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย อาทิ ศูนย์ระบบราง มทร.ธัญบุรี ศูนย์โลจิสติกส์ มทร.ตะวันออก และอีก 8 วิทยาลัยอาชีวศึกษา อาทิ วท.บ้านค่าย วท.สัตหีบ เป็นต้น

ด้านความร่วมมือเพื่อยกระดับบุคลากรร่วมกับประเทศจีน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ร่วมกับยุทธศาสตร์ “ก้าวออกไป” ที่จะเน้นความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เโดยเฉพาะทวิภาคีเชี่อมโยงกับประเทศจีน ที่จะเน้นพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการลงทุนนวัตกรรมใหม่ ยกระดับการค้าการลงทุน พัฒนาสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตและเข้มแข็งร่วมกันต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขยายผล อีอีซีโมเดล ประกอบไปด้วย กระทรวงศึกษาฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) ร่วมในโครงการ Type B เตรียมคนสายอาชีพที่มีสมรรถนะสูง และมีคุณภาพในพื้นที่ จำนวน 5 แห่ง อาทิ  สาขาเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์  วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สาขาปิโตรเคมี  วิทยาลัยมาบตาพุด เป็นต้น

ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและและนวัตกรรม (อว.) เร่งรัดโครงการบัดดี้ภาษามหาวิทยาลัยไทย-จีน จัดตั้งสาขาวิชาภาษาจีนผ่านความร่วมมือมหาวิทยาลัยไทยและจีนรวม 13 แห่ง และขยายเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และสถานเอกอัครราชทูตจีน ส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ BRI และ “ก้าวออกไป” เน้นชักชวนภาคอุตสาหกรรมจากจีนมาร่วมพัฒนาการการเรียนการสอนแบบ “ภาษาจีน + ทักษะวิชาชีพ” โดยจะขยายผลโครงการบัดดี้มหาวิทยาลัยไทย-จีน และส่งเสริมการเรียนภาษาจีนทั้งครูและนักเรียนในอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาจีนและทักษะวิชาชีพ

ขณะเดียวกันจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาษาจีน (CLEC) เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นต้นแบบความร่วมมือ (Sandbox) พัฒนากำลังคนในอีอีซี ที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งในระยะยาวอย่างมั่นคง