posttoday

เปิดเบื้องหลัง “ความปลอดภัย” บน TikTok

20 ตุลาคม 2564

เบื้องหลัง “ความปลอดภัย” บน TikTok ที่ทำให้แบรนด์มั่นใจและวางใจ

นับจาก TikTok เริ่มให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น จนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้ จนถึงเป็นช่องทางในการสร้างรายได้แก่แบรนด์และผู้ประกอบการในสถานการณ์ยากลำบากในปัจจุบัน นอกเหนือจากเรื่องของโอกาส และความสนุกสนานแล้ว ในอีกมุมของการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ได้รับความไว้วางใจจากทั้งผู้ใช้และแบรนด์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การให้บริการ TikTok นั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ จากวิดีโอนับพันล้านคอนเทนท์ที่ถูกอัปโหลดขึ้นบนแพลตฟอร์มในแต่ละเดือน จนนำไปสู่การให้บริการที่สร้างความเชื่อมั่นทั้งจากผู้ใช้งานหลายล้านคนให้รู้สึกปลอดภัย และสามารถแสดงออกได้อย่างแท้จริงบนแพลตฟอร์มนี้ เช่นเดียวกับแบรนด์ที่จะมั่นใจได้ว่าโฆษณา หรือคลิปวิดีโอจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

Clyde Nunes Head of Direct Sales SEA - TikTok ให้ข้อมูลว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คลิปวิดีโอกว่า 62 ล้านคลิปที่ละเมิดหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการให้บริการของ TikTok ถูกลบออกไปทันทีหลังจากอัปโหลดเข้าสู่ระบบภายใน 24 ชั่วโมง และนับเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของคลิปวิดีโอที่ถูกอัปโหลดเข้าสู่แพลตฟอร์ม และยังมีสถิติที่น่าสนใจคือกว่า 81.8% ของวิดีโอถูกลบออกไปก่อนเกิดการรับชม 91.3% ถูกลบออกจากระบบก่อนผู้ใช้รีพอร์ทเข้ามา

“เราภูมิใจกับสถิติในการจัดการกับวิดีโอที่ไม่เหมาะสม และสะท้อนให้เห็นถึงความปลอดภัยของชุมชนของเรา แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จ 100% ในการจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ TikTok ในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”

ใน TikTok ทุกคนทราบดีถึงเป้าหมายของการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และมอบความสุขให้กับทุกคน TikTok จึงเปรียบเหมือนกับบ้านสำหรับการแสดงออกผ่านวิดีโอที่สร้างจากประสบการณ์จริง พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ และความสนุกให้แก่ผู้ชม เพราะในทุกๆ วันจะมีผู้ใช้งาน TikTok หลายล้านคนเข้ามาค้นพบ และสร้างคอนเทนท์ที่มอบความสุขให้คนอื่น

เปิดเบื้องหลัง “ความปลอดภัย” บน TikTok

ทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม

นอกเหนือจากกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว แบรนด์ กลายเป็นอีกส่วนที่เข้ามาใช้งาน TikTok เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้ TikTok มีภารกิจเพิ่มเติมคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับแบรนด์ โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของความปลอดภัยของชุมชน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ เพื่อให้แบรนด์ตระหนักถึงขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อให้แพลตฟอร์มปลอดภัยมากที่สุด

ที่ผ่านมา TikTok มีมาตรการเพื่อปกป้องผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานทุกคนจะสามารถแสดงออกได้อย่างแท้จริง ผ่านการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง มีแนวทางปฏิบัติในการกลั่นกรองอย่างชัดเจน รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ผ่านฟีเจอร์ความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงการเข้าไปร่วมมือกับ 3 พันธมิตรในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น

- การลงนามความร่วมมือกับ Glocal Aliance for Responsible Media (GARM) เพื่อทำงานร่วมกับผู้โฆษณา สื่อ แพลตฟอร์ม และองค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของแบรนด์ในโลกดิจิทัล

- การได้รับรองความปลอดภัยของแบรนด์ (Brand Safety Certified) จาก TAG องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการทำตลาดดิจิทัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดในอุตสาหกรรมโฆษณา

- ผ่านการรับรอง Gold Standard Certified 2.0 จาก IAB UK หน่วยงานเกี่ยวกับโฆษณาดิจิทัลที่มอบรางวัลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการโฆษณาที่ดีที่สุดสำหรับพันธมิตร

เปิดเบื้องหลัง “ความปลอดภัย” บน TikTok

“ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว TikTok ถือว่าเพิ่งเริ่มการเดินทางของเส้นทางที่มุ่งมั่นจะเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยที่สุดในโลก สำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการดำเนินงานต่างๆ ทั้งรายงานความโปร่งใส การจัดตั้งศูนย์ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ในระยะเวลาอันสั้น พร้อมมุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อความปลอดภัยของชุมชน”

เพิ่มเครื่องมือช่วยให้แบรนด์ปลอดภัยภายในปี 2022 TikTok จะเริ่มเปิดโซลูชั่นในการจัดการตำแหน่งโฆษณาเพื่อความปลอดภัยของแบรนด์ (1P Brand Safety Inventory Filter) เพื่อเปิดให้แบรนด์สามารถควบคุมตำแหน่งโฆษณา โดยจะมีทั้งการหลีกเลี่ยงการโฆษณากับเนื้อหาที่ไม่เหมาะตามระดับความเสี่ยงที่กำหนดไว้คือ สูง กลาง และต่ำ ตามมาตรฐานความปลอดภัยของ GARM

เปิดเบื้องหลัง “ความปลอดภัย” บน TikTok

พร้อมกันนี้ TikTok ยังได้เข้าไปร่วมมือกับ OpenSlate ที่คอยเข้าไปตรวจสอบเนื้อหาในแพลตฟอร์ม ช่วยลดความเสี่ยงในการโฆษณา ด้วยการคัดกรองเนื้อหาที่ผ่านมาตรฐาน ช่วยปกป้องชื่อเสียงของแบรนด์ พร้อมกับเปิดให้ทดสอบลงโฆษณาควบคู่ไปกับเนื้อหาที่ OpenSlate ตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะมีการวัดและประเมินผลแบบรายสัปดาห์ โดยจะเริ่มให้บริการในอินโดนีเซียก่อน และจะครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2022