posttoday

บินไทยยังอ่วม พิษโควิด ฉุดไตรมาส 3 ขาดทุน 2.1 หมื่นล้าน

12 พฤศจิกายน 2563

“ชาญศิลป์” ยอมรับผลกระทบโควิดยังไม่คลี่คลาย แม้มีสัญญาณฟื้นแต่ยังไม่คืนสู่ระดับปกติ ท่องเที่ยวทั่วโลกยังถูกจำกัด ส่งผลให้ไตรมาส3 ยังขาดทุน จากรายได้ลดลงกว่า 90% เดินหน้าหาธุรกิจใหม่เสริมสภาพคล่อง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกในไตรมาส 3 ของปี 2563 แม้ว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการเดินทางภายในประเทศ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มข้น และยังคงให้บริการขนส่งสินค้าในบางเส้นทาง รวมทั้งจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน

นอกจากนี้ ยังมุ่งหารายได้เพิ่มจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร โดยการเจาะตลาดลูกค้าภาคพื้นให้มากขึ้น ขณะที่บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 95% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 97.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 34.9% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.49 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 91.9%

ด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 96.2% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 93.6% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 91.2% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.2%

ขณะที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,727 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 41,289 ล้านบาท หรือลดลง 91.7% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 37,654 ล้านบาท (95.1%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,718 ล้านบาท (56.2%)  

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 19,375 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 28,483 ล้านบาท (59.5%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานผันแปรลดลงจากปริมาณการผลิต ปริมาณการขนส่ง และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายคงที่ที่อยู่ในระดับสูงทำให้การลดลงของค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 15,648 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12,806 ล้านบาท (450.6%)

นายชาญศิลป์  กล่าวว่า  บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ประกอบด้วย 1. ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวรจำนวน 444 ล้านบาท  2. ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 35 ล้านบาท

3. ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,306 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี  4. ผลกำไรสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิจำนวน 32 ล้านบาท

ดังนั้น บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2563 จำนวน 21,531 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,851 ล้านบาท (360.1%) โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 21,536 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 9.87 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 2.14 บาท

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14  ก.ย. 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฯดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯ เสนอ โดยขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ