posttoday

ปั้น 20 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ต่อยอดแพคเกจ เที่ยวปันสุข

24 มิถุนายน 2563

อพท.ดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร่วมสร้าง 20 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน รอเสิร์ฟนักท่องเที่ยวหลังพ้นโควิด ชงของบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1,400 ล้านบาท ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เตรียมร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ  (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA)ให้จัดส่งบุคลากรลงพื้นที่พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้กับ 40 ชุมชน ในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทาง

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเงจะมีการพัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่น โดยใช้มัคคุเทศก์อาชีพ มาเป็นวิทยากรให้การอบรมแก่ชุมชน โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ได้เพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีรายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการตลาดท่องเที่ยว และความเชี่ยวชาญในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว

เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติผู้ที่เป็นวิทยากร จะนำเส้นทางที่ตนเองได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ ไปเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว  รวมถึงโครงการเที่ยวปันสุข ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วย  ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำร่องหากได้ผลตอบรับที่ดี ในปีต่อๆไป  ทางอพท.จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท.พัฒนาขึ้นมา

ปั้น 20 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ต่อยอดแพคเกจ เที่ยวปันสุข

นอกจากนี้ยังเตรียมนำหลักการตลาดมาผสมกับแนวทางการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้ผลลัพท์เป็นเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้จะร่วมมือกับภาคีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดท่องเที่ยว เช่น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เข้ามาร่วมให้ความรู้แก่ชุมชน  พัฒนาโดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนนั้นๆ เป็นตัวกำหนดว่าจะเหมาะรองรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มไหน เพราะจากนี้ไปพฤติกรรมการท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จะลดลงปรับเป็นท่องเที่ยวในกลุ่มขนาดเล็กเพื่อความปลอดภัย

กลุ่มแรกที่จะเดินทางท่องเที่ยวคือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่ง อพท. มี 81 ชุมชน ที่พัฒนาและพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ แบ่งเป็น 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ และอีก 67 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์ ในที่นี้ได้รวม 4 ชุมชนในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก 6 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 6 ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 

นายทวีพงษ์  กล่าวว่า ทางอพท.ได้เสนอของบตามโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาท  โดยได้เสนอของบไปประมาณ 1,400 ล้านบาท แยกเป็นงบในส่วนของแผนพลิกฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ 1,200 ล้านบาท  เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพคนในชุมแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ขยะ และอีก 200 กว่าล้าน เป็นงบในแผนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนด้านการเกษตร โดยจะมีการพิจารณา