posttoday

โควิดพ่นพิษต่อเนื่อง ส่งออกไทยดิ่งติดลบต่ำสุด130 เดือน

24 มิถุนายน 2563

‘พาณิชย์ ชี้ทิศทางส่งออกยังน่าเป็นห่วง เดือนพ.ค.ติดลบ 22.50% ผลจากโควิด-19 ฉุดออเดอร์สินค้าวูบทั่วโลก ลุ้นหลังคลายล็อคดาวน์เริ่มฟื้นตัว จับตาหมวดอาหาร-สินค้าเกษตรยังมีอนาคต คาดปีนี้ส่งออกติดลบเฉลี่ย 5%

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค)  เปิดเผยถึงสถานการณ์ การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ค.63 การส่งออกมีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัณฐติดลบ 22.50%  เป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือนหรือเกือบ 11 ปี  นับตั้งแต่เดือน ก.ค.52  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ  34.41% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,694.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทย หดตัวลงมาก จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของหลายประเทศทั่วโลกลดลง และยังประเมินได้ยากว่าจะนานถึงเมื่อใด ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในเดือน พ.ค.2562 จึงทำให้มีอัตราติดลบปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

“การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้าแต่ยังมีปัจจัยลบในสถานการณ์ที่ทุกประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้นักลงทุนเลือกย้ายการลงทุนมาฝั่งเอเชียมากขึ้น และอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมีผลต่อมูลค่าส่งออกได้”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับภาพรวมการส่งออก 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 3.71% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 11.64% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,090.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี แม้สินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ แต่สินค้าไทยหลายรายการยังสามารถประคองตัวเองได้ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอาหารที่พบว่าในเดือน พ.ค.มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% จากเดือน เม.ย.ที่ขยายตัวได้ 15-16%

น.ส.พิมพ์ชนก  กล่าวว่า การส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการส่งออกในแต่ละรายภาค ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวได้เมื่อใด แต่คาดการณ์ว่าการส่งออกในช่วงหลังจากนี้ไปจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้น และไม่ต่ำไปมากกว่านี้แล้ว ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการระบาดของโควิดในระลอกสองจนทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง  โดยประเมินการส่งออกปีนี้เฉลี่ยติดลบ 5%อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ยังมีศักยภาพและขยายตัวได้ดี คือ 1. สนับสนุนบริษัทส่งออกให้เข้าถึงนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อประคองธุรกิจในภาวะที่การส่งออกยังไม่แน่นอนสูง

2. ส่งเสริมการตลาดสินค้าที่มีความต้องการสูงในระยะนี้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร 3. ตั้งเป้าหมายและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดศักยภาพและฟื้นตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 4. แก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้นในระยะนี้ และ 5. บริหารความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน