posttoday

ไทยเข้าสู่โหมดภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง3เดือน

04 มิถุนายน 2563

เงินเฟ้อเดือนพ.ค.ดิ่งต่ำสุดเฉียด 11 ปี กดดันเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พิษจากโควิด-19 ฉุดการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง 27% คาดเดือนนี้เงินเฟ้อต่ำสุดของปีแล้ว

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร    ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  เปิดเผยถึง สถาการณ์ด้านสินค้าและบริการเดือนพ.ค. ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค. เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 3.44% (YoY) ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ทำให้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อยังลดง เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ นอกจากนั้นฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด     ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี  โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ  ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างติดลบ 1 ถึง  0.2 %  (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6)  

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อปีนี้คงติดลบแน่นอน ตอนนี้ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ   เนื่องจากยังอยู่ในวิสัยที่ประเมินไว้  โดยประเมินว่าเดือนพ.ค.น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเงินเฟ้อแล้ว จากปัญหาโควิด  เพราะขณะนี้หลายปัจจัยเริ่มผ่อนคลาย  ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าดีขึ้น 

“ส่วนปัญหาเงินฝืดที่เกิดขึ้นเรียกว่าเงินฝือทางเทคนิค เนื่องจากราคาสินค้าหลายตัว อาหารอุปโภค ปรับลดลงไม่เยอะ เพียงแต่ไม่สามารถชดเชยกับราคาน้ำมันที่ต่ำลงไปถึง 27%  ซึ่งไม่ต้องกังวล และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คือ 1. การปลดล็อคมาตรการค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาได้ 2. กระตุ้นท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดการเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะปีนี้ รายได้จากต่างชาติคงยังไม่มา  3.ภัยแล้งบางจังหวัดเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่บางสินค้ายังมีผลกระทบอยู่

ไทยเข้าสู่โหมดภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง3เดือน

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี    ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว

ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยทอนที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.มีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง