posttoday

เล็งใช้งบพ.ร.บ.เงินกู้ เยียวยาภาคขนส่งจมพิษโควิด 7 หน่วยงาน ขอแล้ว 7พันล้าน

03 มิถุนายน 2563

"ศักดิ์สยาม" สั่งหน่วยงานในสังกัด เคาะตัวเลขเงินเยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง 10 มิ.ย. ก่อนเสนอครม. ย้ำชัดต้องแจกแจงตัวเลผลกระทบต้นทุนให้เหมาะสม ล่าสุดมี 7 หน่วยงานเสนอมาแล้ว 7.6 พันล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด จัดทำกรอบวงเงินที่จะเสนอในมาตรการลดผลกระทบของผู้ประกอบการภาคขนส่ง ที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งเบื้องต้นมีบางหน่วยงานเสนอมาบ้างแล้วแต่ยังไม่ครบ ขณะเดียวกัน ขอให้มีการปรับปรุงตัวเลขให้มีความถูกต้อง และเสนอมาที่กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ซึ่งหลังจากนั้น จะมีการสรุปข้อมูลทั้งหมดไปที่สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ก่อนส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้การจัดทำตัวเลขที่เสนอมา ให้ครอบคลุมการเยียวยาผู้ประกอบการขนส่ง ทุกประเภท ตัวเลขต้องถูกต้องสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจริง โดยยึดแนวทางการได้รับเยียวยา ในลักษณะเท่ากับต้นทุน ไม่บวกผลกำไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ถูกต้องในการใช้งบประมาณมากที่สุด ส่วนเรื่องที่ผู้ประกอบการ จะไปปรับตัวให้การดำเนินธุรกิจกลับมามีกำไรได้นั้น คงเป็นเรื่องของอนาคต

นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้า กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะลงนามร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร โดยเฉพาะชาวสวนยาง ซึ่งสามารถดำเนินการให้สอดคล้อง กับการผลักดันโครงการ จัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ ที่กระทรวงคมนาคม ได้เคยมอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทไปดำเนินการ ซึ่งโครงการความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ นี้ จะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนยางโดยตรง รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศมากกว่า 1 ล้านตันใน 3 ปี ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางถนนที่ปลอดภัย บนต้นทุนงบประมาณที่ถูกลง เมื่อเทียบกับการก่อสร้างเกาะกลางถนนแบริเออร์แบบเดิม

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด หน่วยงานที่เสนอกรอบวงเงินในการเยียวยาผู้ประกอบการภาคขนส่ง มาแล้วมีวงเงิน 7,697 ล้านบาท ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก 4,773 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่เดินเที่ยววิ่งในที่นั่ง 30% ของจำนวนที่นั่งรวม และคิดราคาค่าโดยสารที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างของเดือน พ.ค.-ก.ค. 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614 ล้านบาท เป็นเงินสนับสนุนจากกรณีที่รายได้ค่าโดยสารลดลง ,บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 800 ล้านบาท เป็นการชดเชยรายได้ค่าโดยสาร และรายได้ค่าชนส่งพัสดุภัณฑ์ ,การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงิน 627 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการงดเดินขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 เป็นต้น