posttoday

วิกฤตโควิดเบรกกิจกรรมเศรษฐกิจ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯดิ่งต่ำสุดรอบ 28 เดือน

23 เมษายน 2563

ส.อ.ท.สำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตฯเดือนมี.ค.ปรับลดลงเกือบทุกรายการ จับตา 3 เดือนข้างหน้ายังไม่ดีขึ้น ดัชนีฯจ่อต่ำสุดรอบ 10 ปี ชี้ปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจชะลอตัว

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี   ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.2   ในเดือนก.พ.โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2560  ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 96.0 โดยลดลงจาก 98.1 ในเดือนก.พ. 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เดือนก.ค.2552

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ  ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ

ขณะที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการดำเนินกิจการ อาทิ การผลิตและการจำหน่ายสิ นค้าลดลง รวมทั้งการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบมีความล่าช้า  ตลอดจนปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และส่งผลให้กำลังซื้อในภาคเกษตรลดลง

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,026 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 67.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19  ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง และผู้ประกอบการร้อยละ 49.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก ร้อยละ 42.3 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 31.7 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 18.8 ตามลำดับ

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอต่อรัฐในการบรรเทาผลกระทบในภาคธุรกิจ ได้แก่  1. ให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาหักภาษีได้  2. เสนอให้ภาครัฐสนับสนุน E-Commerce Platform ของประเทศ เพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค  ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ3. การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้สนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made in Thailand)

“นานๆครั้งจะได้เห็นดัชนีปรับลดลงเกือบทุกรายการ  โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อม้่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ที่ต่ำสุดในรอบ10 ปี  ปัญหาหลักมาจากผลกระทบจากไวรัสโควิด ตลอดจนภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง"นายสุพันธุ์ กล่าว 

นายสุพันธุ์  กล่าวว่า ได้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ COVID-19 ภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกำหนดแนวทางการเยียวยาเพื่อเสนอต่อภาครัฐ โดยมีคณะอนุกรรมการทั้งหมด 7 คณะ ดังนี้1.คณะอนุกรรมการมาตรการภาษีและการเงิน ทำหน้าที่รวบรวมมาตรการด้านภาษีและการเงินของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญแจ้งให้สมาชิกทราบ

2.คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน ทำหน้าที่รวบรวมมาตรการด้านแรงงาน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญแจ้งให้สมาชิกทราบ  3.คณะอนุกรรมการมาตรการโลจิสติกส์ ทำหน้าที่รวบรวมมาตรการในด้านโลจิสติกส์ การขนส่งข้ามแดน จัดทำฐานข้อมูลและแนวทางปฏิบัติเพื่อสื่อสารไปยังสมาชิก  4.คณะอนุกรรมการป้องกันการระบาด COVID-19 ทำหน้าที่รวบรวมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขอนามัย รวมทั้งจัดทำมาตรการการป้องกัน COVID-19 ในการทำงาน และรวบรวมรายชื่อผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้อง

5.คณะอนุกรรมการสนับสนุนสมาชิก จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมในนาม ส.อ.ท. จัดทำแผนการจำหน่ายสินค้าป้องกัน COVID-19 รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการให้ข้อมูลรับฟังปัญหาในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก  6.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อาทิ มาตรการต่างๆ ของ ส.อ.ท. และภาครัฐ เผยแพร่ไปยังสมาชิก สภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มอุตสาหกรรม และสื่อมวลชนและ  7.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลัง COVID-19 ทำหน้าที่จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19