posttoday

สภาพัฒน์ฯคาดไวรัสโควิด-19 ฉุดว่างงานเพิ่ม จ่อคลอดมาตรการดูแลเข้าครม.สัปดาห์หน้า

28 กุมภาพันธ์ 2563

จับตาภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจัยเสี่ยงรุม หวั่นไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง กระทบจ้างงาน กดความสามารถชำระหนี้ ขณะที่เอ็นพีแอลเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

นายทศพร   ศิริสัมพันธ์   เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึง ภาวะสังคมประจำไตรมาสที่4/62 และภาพรวมปี 2562 ว่า  สถานการณ์ด้านแรงงานของปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดทั้งภาวะภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าภัยแล้งในปี 2563 มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี 

ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ต่อการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว  ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะกระทบไปถึงสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัปดาห์หน้า จะมีการเสนอมาตรการด้านการจ้างงานเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคแรงงานจากสถานการณ์ต่างๆด้วย

สำหรับการจ้างงานในไตรมาสที่4/62 ปรับตัวลดลง 1.1% ทำให้การจ้างงานทั้งปี 2562 ปรับตัวลดลง 0.7% ตามการชะลอตัวของภาวะการส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งทำให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 2.1% และในภาคการเกษตรลดลง 2.9% จากผลกระทบภัยแล้งตั้งแต่ต้นปี

รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2562  ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวทำให้อัตราการว่างาน ณ ไตรมาส4/62 อยู่ที่ 3.7 แสนคน คิดเป็น 1.04% ของกำลังแรงงานทั้งหมด 38.2 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 0.99%

อย่างไรก็ตามแม้อัตราการว่างานในภาพรวมตลอดปี 2562 จะยังต่ำกว่า 1% และจำนวนผู้ว่างงานยังอยู่ในช่วงปกติของประเทศไทยที่ 3-4 แสนคน แต่ก็ถือว่าตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบจากวัฎจักรเศรษฐกิจและผลกระทบเชิงโครงสร้างไปพร้อมกัน   โดยการจ้างงานภาคการผลิตและการส่งออก  มีการบริหารในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กิจการยังคงดำเนินไปได้เช่นการลดชั่วโมงการทำงานลง เห็นได้จากผู้ทำงานล่วงเวลาที่เคยทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีชั่วโมงการทำงานลดลง 8.2%

นอกจากนี้การใช้มาตรา 75 พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงานก็มีมากขึ้น โดยนายจ้างได้หยุดกิจการชั่วคราวแต่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานในอัตรา 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ โดยตลอดปี 2562 (ข้อมูล ณ 2 ธ.ค.2562)พบว่ามีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวจำนวน 260 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 1.5 แสนคน ส่วนการปิดกิจการนั้นพบว่าปี 2562 มีสถานประกอบการขอปิดกิจการ 1,107 แห่ง เพิ่มขึ้น 67.55% กระทบลูกจ้าง 7,703 คน หรือเพิ่มขึ้น  37.09%

ส่วนผลกระทบในเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการจ้างงานที่เกิดขึ้นพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปีโดย 72.6% ของแรงงานกลุ่มนี้มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้นทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในปัจจุบันและยังเป็นข้อจำกัดต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ส่วนแรงงานกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 40 ปีก็ยังมีคุณลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความต้องการในสายช่างเทคนิคแต่แรงงานส่วนใหญ่จบการศึกษาในกลุ่มบริหารและพาณิชยกรรม

ทางด้านสถานการณ์หนี้ครัวเรือนข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาสที่3/62 พบว่าเพิ่มขึ้น5.5% เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.8% โดยมูลค่าหนี้ครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 79.1% เป็นอัตรราสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน

ทั้งนี้คุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส4/62 มีมูลค่า 140,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7%จากช่วงเดียวกันของปี2561 และคิดเป็นสัดส่วน 2.90% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.81%ในไตรมาสที่3/62 ส่วนความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ต้องติดตาม โดยสัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่ากับ 3.71%และสัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์ต่อยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.86%  แต่สัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆต่อยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นปรับตัวลดลงฃ

“เอ็นพีแอลในไตรมาสสุดท้ายของปี2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่การที่สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจทำให้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันจึงไม่น่ากังวล แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจการส่งออก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมและความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงไตรมาสที่1และ2 อีกครั้ง แต่ที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็มีมาตรการควบคุมที่ดีและขณะนี้ก็มีอยู่ และสถาบันการเงินต่างๆก็มีมาตรการบรรเทาภาระลูกค้าออกมา” นายทศพร กล่าว