posttoday

ดัชนีผลผลิตฯ ม.ค.เริ่มขยับแตะ 103.32 ห่วงพิษไวรัสโควิด-19 กระทบไลน์การผลิตภาคอุตฯ

26 กุมภาพันธ์ 2563

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. สูงสุดรอบ 8 เดือน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ระดับ 66.48% เกาะติดปัญหาไวรัสโควิด-19 กระทบไลน์ผลิตชิ้นส่วนป้อนจีน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนม.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 103.32  ปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 66.48%  ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน  โดยมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กระทบต่อภาคการเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตร

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากประเทศจีนได้หยุดการผลิตในอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศไทย

ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเพิ่มขึ้น21.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนประกอบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผู้ผลิตได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้การส่งออกยังคงขยายตัวได้จากตลาดในประเทศออสเตรเลียเนื่องจากวิกฤติไฟป่าและอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มประเทศยุโรปและประเทศเวียดนามที่ความต้องการสินค้าขยายตัวดีเป็นไปตามการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์

ด้าน Hard Disk Drive การผลิตเพิ่มขึ้น13.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมาประเทศไทยตั้งแต่ เดือนเม.ย. 2562 และความต้องการใช้ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับข้อมูลที่มีการเติบโตและสอดคล้องกับความต้องการใช้ที่หลากหลาย

ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่ม การผลิตเพิ่มขึ้น 5.69 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำดื่มและน้ำอัดลมเป็นหลักตามความนิยมที่เพิ่มขึ้นของน้ำอัดลมแบบน้ำตาล 0% และการออกบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดหลากหลายเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มไลน์การผลิตน้ำดื่มของผู้ผลิตบางราย

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องยนต์ การผลิตลดลง 12.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของตลาดต่างประเทศจากผลกระทบของสงครามการค้ารวมถึงตลาดในประเทศที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ,ผลผลิตน้ำตาลลดลง จากพื้นที่ปลูกอ้อยลดจากปัญหาภัยแล้ง ,น้ำมันปาล์มการผลิตลด 40.68% จากปัญหาภัย , ผลิตภัณฑ์ยาง ลดลง 9.31% จากโรคใบร่วงของต้นยางและการงดรับสินค้าจากจีนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเนื่องจากเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น