posttoday

โรงไฟฟ้าชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมความั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าภูมิภาค

26 กุมภาพันธ์ 2563

นโยบาย “โรงไฟฟ้าชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เชื่อมประสานความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเร่งผลักดัน “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลระดับต้น ๆ ขณะนี้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมทั่วประเทศไทย ถือเป็นการทำให้ทิศทางพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยมีความชัดเจนและได้รับการยอมรับจากกลุ่มชาติอาเซียน ด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค ผ่านการทำงานเชื่อมประสานระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไทยกับ ลาว เมียนมา กัมพูชา และ เวียดนาม เพราะประเทศไทยมีศักยภาพสูงด้านเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การันตีทุก “พื้นที่ชายขอบ” มีไฟฟ้าใช้

และด้วยความเชี่ยวชาญนักเจรจาต่อรองของนายสนธิรัตน์ ตั้งแต่สมัยเคยดำรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การพูดคุยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจึงประสบความสำเร็จ ทำให้บรรดาผู้นำชาติอาเซียนด้านพลังงาน ชื่นชมวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เพราะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ไม่เพียงทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้ผ่านการสนับสนุนผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่กำลังเชื่อมประสานสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ที่สำคัญ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(SDGs) ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและยกระดับรายได้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะนโยบาย “สถานีพลังงานชุมชน” ที่ตั้งเป้าดึงศักยภาพชุมชนเป็นแหล่งผลิตพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าไฮบริด ที่เริ่มเป็นรูปธรรมออกมาแล้ว

ทั้งนี้ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” ทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบปลายสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือ แม้มีไฟฟ้าใช้แต่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยครั้งสร้างความเดือดร้อนเพราะไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างการดำเนินชีวิตประจำวันยากลำบาก โรงไฟฟ้าชุมชนจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยมุ่งเน้นทำให้ชุมชนมีรายได้จากการเข้ามาถือหุ้น โดยมีภาคเอกชนที่มีแนวคิดรับผิดชอบสังคมเข้ามาร่วมสานพลังเป็นโครงการเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในปี2563 กระทรวงพลังงาน จะเร่งขับเคลื่อนแผนงานดำเนินงานในโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานผ่านกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม

ชุมชนมีรายได้เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “เงิน”

สำหรับผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการมีพลังงานไฟฟ้าใช้แล้ว หากไฟฟ้าเหลือใช้สามารถขายพลังงานไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง เมื่อมีรายได้เข้าชุมชนย่อมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ยิ่งในพื้นที่เกษตรกรรมเกิดประโยชน์สูงมาก เพราะเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่เหลือทิ้งในชุมชนเข้าหลักนโยบาย “Zero Waste” เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “เงิน” เพราะการจัดการขยะมูลฝอยถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ หรือ กลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงาน อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ฯลฯ ไม่ต้องกังวลใจว่าผลผลิตราคาจะผันผวน หากเกิดปัญหาล้นตลาดสามารถป้อนขายโรงไฟฟ้าชุมชนได้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพตามมามากมาย พอชุมชนเข้มแข็ง พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดไปเร่ขายแรงงานต่างถิ่น

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ จึงเร่งเคลื่อนทุ่มเททำงาน และ ลงพื้นติดตามความคืบหน้า เพื่อผลักดันโครงการให้ไปสู่เป้าหมาย คือ ต้องทำให้คนไทยทุกพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้และชุมชนเข้มแข็ง เพราะกระทรวงพลังงานยุคใหม่ต้องเป็นหัวหอกในการพารัฐบาลภายใต้การนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมต.กลาโหม ไปสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก่อเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

“โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” ไม่ได้ทำให้ชุมชนมีพลังงานไฟฟ้าใช้ทุกตารางนิ้วในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้เสริม “พลังชุมชน” ให้เข้มแข็ง พร้อมกับเชื่อมประสานความมั่นคงด้านพลังงานไปสู่ “พลังอาเซียน” โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นฐาน เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(SDGs)