posttoday

“บิ๊กตู่”เยือนสหรัฐฯหารือทวิภาคีโดนัล ทรัมป์

14 กุมภาพันธ์ 2563

“สมคิด” ลุยปูทางดึงธุรกิจทั้งรายใหญ่ สตาร์ทอัพลงทุนไทย สัปดาห์หน้าเดินสายพบรัฐมนตรีญี่ปุ่นกระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 นาย Michael George DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่ ได้เข้ามาพบหารือในการเตรียมการกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯที่จะจัดขึ้นที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ ในวันที่ 14 มี.ค. 2563 ซึ่งนอกจากการประชุมร่วมแล้วนายกรัฐมนตรีจะได้หารือแบบทวิภาคีกับนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ในประเด็นความคืบหน้าของการร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศในหลายประเด็น ทั้งนี้ กำหนดการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 มี.ค. 2563

นายสมคิด กล่าวว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจะร่วมคณะไปกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสหรัฐฯประมาณ 5-6 วัน เพื่อไปพบและเชิญชวนบริษัททั้งขนาดใหญ่ และสตาร์ทอัพในเมืองสำคัญอย่างซีแอทเทิล ซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส มาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการหารือเพื่อจะพัฒนาซิลิคอนวัลเลย์ ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการหารือกับกับเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในภูมิภาค ACMECS ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างสูง

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าถึงโครงการลงทุนต่างๆ ของเอกชน ซึ่งได้ย้ำไปว่ากลุ่มบริษัท ปตท จากประเทศไทยมีแผนจะลงทุนในสหรัฐฯ อยู่แล้ว 13 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการศึกษาเพื่อลงทุนของบริษัท เอกซอนโมบิลในประเทศไทย ขณะนี้ก็มีความคืบหน้าไปมาก

นายสมคิด กล่าวว่า ในวันเดียวกัน นายคิยามะ ชิเกรุ ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นและทูตโครงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามาพบหารือ พร้อมกับยืนยันว่าประเทศไทยยังคงเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยได้สอบถามถึงความคืบหน้าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งก็ได้ยืนยันไปว่ามีความคืบหน้าที่ดีและขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาที่ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NEEC) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายชิเกรุ ได้กล่าวถึงนโยบายของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่กำลังระดมเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านข้อริเริ่มด้านเงินกู้และการลงทุนสำหรับอาเซียน (Initiative on Overseas Loan and Investment for ASEAN) เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคการเงินของญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นแนวโน้มที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้วยในฐานะฐานการลงทุนหลักของญี่ปุ่น ขณะที่ทางบริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. นี้ ส่วนตัวจะนำคณะไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะมีโอกาสพบกับรัฐมนตรีของกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่นเช่น กระทรวงเศรษฐกิจและการค้า(เมติ) กระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทั้ง 2 ประเทศ เพื่อผสานความร่วมมือ นำโมเดลการพัฒนาเกษตรกรของญี่ปุ่นมาพัฒนาเกษตรกรไทยด้วย