posttoday

เร่งส่งออก3 สารอันตรายล็อตแรก 2,900 ตัน ฝ่ายคัดค้านนัดแต่งดำบุกเกษตร 26 พ.ย.นี้

23 พฤศจิกายน 2562

'มนัญญา' เดินหน้ากำจัด 3 สารเคมีอันตรายเร่งส่งออกล็อตแรก ด้านกลุ่มคัดค้านนัดแต่งดำประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรฯ 26 พ.ย.นี้ ยันไม่ส่งคืนสารอันตรายเหตุใช้เงินซื้อมา

'มนัญญา' เดินหน้ากำจัด 3 สารเคมีอันตรายเร่งส่งออกล็อตแรก ด้านกลุ่มคัดค้านนัดแต่งดำประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรฯ 26 พ.ย.นี้ ยันไม่ส่งคืนสารอันตรายเหตุใช้เงินซื้อมา

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมลงนามอนุญาตให้เอกชนที่ครอบครองสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด ส่งออกไปยังประเทศที่ 3 หรือประเทศต้นทาง โดยขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ออกใบอนุญาตส่งออกให้แล้ว ซึ่งจะดำเนินให้ทุกฉบับที่ขอส่งออกไปต่างประเทศ

ทั้งนี้วัตถุอันตรายทั้งหมดมีจำนวน 60 ฉบับ ปริมาณทั้งหมด 2,829,913 ลิตร หรือ ประมาณ 2,900 ตัน ประกอบด้วย 1. พาราควอตไดคลอไรด์ 5 ฉบับ ปริมาณ 1,480,000 ลิตร 2. ไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม 2 ฉบับ ปริมาณ 9,552 ลิตร 3. คลอร์ไพริฟอส + ไซเพอร์เมทริน 1 ฉบับ ปริมาณ 12,480 ลิตร4. คลอร์ไพริฟอส 1 ฉบับ ปริมาณ 13,860 ลิตร 5. สารชนิดอื่น 51 ฉบับ ปริมาณ 1,314,021 ลิตร ยอดรวม 3 สาร 1,515,892 ลิตร

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า แม้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม เกษตรกรจะไม่ส่งมอบคืนสารให้กรมวิชาการเกษตรเนื่องจากใช้เงินตัวเองซื้อมา ในขณะที่เป็นของถูกกฎหมาย ในวันที่ 26 พ.ย. นี้จะแต่งชุดดำแล้วไปรวมตัวกันที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงเช้า โดยหวังว่าจะพบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯตามที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายเฉลิมชัยรับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกร จากนั้นจะเดินไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ให้ทบทวนมติแบน3สาร ซึ่งบางส่วนจะทยอยเดินทางมาตั้งแต่วันที่25พ.ย.มาปักหลักหน้ากระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้การที่เกษตรกรแต่งชุดดำนั้นเพื่อไว้อาลัยต่อกฎหมายอยุติธรรม เป็นการรวมตัวกันโดยสงบและใช้หลักอหิงสา ไม่ใช่การก่อม็อบ และเห็นว่าน.ส. มนัญญา รมช.เกษตรฯ ระบุว่า หากมากดดัน อาจมีม็อบเสื้อขาวจะมาเหมือนกัน เป็นคำพูดของรัฐมนตรีเกษตรฯ ที่นอกจากไม่ช่วยเกษตรกรแล้ว ยังข่มขู่อีกด้วย ซึ่งม็อบเสื้อขาวเป็ม็อบเสื้อกาวน์ ใช่ไหม เท่ากับเป็นการจัดตั้งม็อบมาชนเกษตรกร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่าการยกเลิกการใช้สาร 3 ชนิด มี ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมี 2 ด้านคือ ผลกระทบต่อการเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ต้องใช้ผลผลิตในประเทศ เนื่องจากสารทั้ง 3 ชนิดมีความจำเป็นต่อเกษตรกรในการป้องกันและกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช

การลงมติให้ยกเลิกอย่างกะทันหัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ผลผลิตลดลง ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปทาน (supply)ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่ต้องใช้ผลผลิตในประเทศเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและแปรรูป สินค้าอาหารเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกนั้นเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก แต่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นอาหารและอาหารสัตว์ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น

หากปรับสถานะให้ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวได้เพราะการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง สารพิษตกค้างซึ่งกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งกำหนดให้ปริมาณสูงสุดของสารตกค้างในสินค้าเกษตรในระดับที่ปลอดภัย ต้องเป็นไปตามค่าที่ประเทศไทยกำหนด เมื่อการผลิตหยุดชะงักจะเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก