posttoday

เกษตรพร้อม!! เซ็นส่งออก 3 สารพิษภายใน 3 วัน มึนสต๊อกเก่าพุ่ง 3.8 หมื่นตัน

21 พฤศจิกายน 2562

'มนัญญา' ลั่นพร้อมเซ็นส่งออก 3 สารพิษทันที ภายใน3วัน ตั้งข้อสงสัย ยิ่งแบนสาร กลับมีสต๊อกเพิ่มกว่า 3.8หมื่นตัน ระบุเป็นหน้าที่ภาระเอกชนรับผิดชอบ ส่งกลับหรือทำลาย

'มนัญญา' ลั่นพร้อมเซ็นส่งออก 3 สารพิษทันที ภายใน3วัน ตั้งข้อสงสัย ยิ่งแบนสาร กลับมีสต๊อกเพิ่มกว่า 3.8หมื่นตัน ระบุเป็นหน้าที่ภาระเอกชนรับผิดชอบ ส่งกลับหรือทำลาย

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก สารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ก่อนที่จะยกเลิกใช้ 3 สาร วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ว่า เป็นการทำความเข้าใจกับเอกชน ผู้นำเข้า ส่งออก 3 สมาคม คือ สมาคมอารักขาพืช สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมการค้านวตกรรมเพื่อการเกษตรไทย โดยหลังจากนี้ในวันที่ 22 พ.ย.จะประชุมร่วมกับสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ 300 กว่าคน เพื่อซักซ้อมแนวทางในการดูแลประชาชนและเกษตรกร ในการคืน 3 สารอันตราย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าในวันที่ 27 พ.ย.คณะกรรมการวัตถุอันตราย(กอ.) จะมีการประชุมเพื่อทบทวนสารบางตัว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกอ.ต้องตอบคำถามให้กับประชาชนทุกข้อ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร จะต้องทำให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและเกษตรกร เนื่องจากมีโทษตามกฎหมายสูงหาก 3 สารมีอยู่ในครอบครองหลังวันที่ 1 ธ.ค.

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออก 3 สารดังกล่าวการส่งออก ก็พร้อมเซ็นอนุมัติให้ทันทีในเวลาทำการ 1-3 วัน ขณะนี้มีเอกชนยื่นเรื่องขอส่งออกแล้ว 700 กว่าตัน เพื่อส่งไปประเทศที่สาม แต่ในส่วนของสารที่มีคงเหลืออยู่ประมาณกว่า 3.8 หมื่นตัน ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้นำเข้า ต้องรับผิดชอบในการทำลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกทั้งที่รู้ว่ารัฐบาลจะห้ามการใช้สารเคมี 3สาร ก็ยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายการตลาดของบริษัท ไปขายแบบลดแลกแจกแถมซื้อ 1 ลิตรแถม 3 ลิตร เพื่อให้ไปอยู่มือเกษตรกร ไว้เยอะๆ จริงๆแล้วในเรื่องส่งออก นำเข้าสารเคมี มีกฎหมายแรงมาก บางครั้งถึงขั้นต้องปิดบริษัท ซึ่งในประเด็นนี้ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตร ดึงกฎหมายนี้ ออกมาก่อน เพื่อมาหารือกันก่อน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลนี้ทำงานทุกอย่างอยู่บนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ ต่อไปการส่งออกต้องมีการเสียภาษี จะน้อยจะมากต้องเสียภาษี และเอาเรื่องเหล่านี้มาอยู่บนโต๊ะ ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยให้นำเข้าสารเคมี ภาษีเป็นศูนย์ เพราะต้องการทำให้สินค้าถึงมือเกษตรกรในราคาที่ถูก แต่กลายเป็นช่องทางนำเข้า ไปส่งออก

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และประธานคณะทำงานตรวจสอบสต๊อก 3 สาร กล่าวว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย.62 มีผู้นำเข้า 103 บริษัท จำนวน 36,343 ตัน หลังจากนั้นมีการตรวจสอบรายงานสต๊อกครั้งที่ 1 วันที่ 5 ก.ค.พบว่ามีการนำเข้าจริง 34,688 ตัน และการตรวจสต๊อกครั้งที่สอง วันที่ 30 ก.ย.มีจำนวน 39,689 ตัน ตรวจครั้งที่สาม วันที่ 30 ต.ค.สต๊อกเหลือ 23,263 ตัน

เมื่อตรวจครั้งที่ สี่ วันที่ 12 พ.ย.พบว่าสต๊อกมีอยู่ 38,885 ตัน คำถามทำไมสตอกของกรมวิชาการเกษตร จึงดิ้นได้ และที่บอกว่าข้อมูลของเราเป็นวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ไม่ได้มโน จะพบว่า ปี 2558 นำเข้า 91,000 ตัน ปี 2559 นำเข้า 96,000 ตัน ปี 2560 นำเข้าแสนกว่าตัน และปี 2561 นำเข้า 81,000 ตัน พอปี 2562 นำเข้า 3.6 หมื่นตัน เพราะมีการห้ามนำเข้าเมื่อเดือนมิ.ย. ดังนั้นจะเห็นว่าปี 2560 ทำไมมีการนำเข้าแสนกว่าตัน

ด้านนายสกล มงคลธรรมากุล ที่ปรึกษาสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าการดำเนินการเรื่องนี้มีระยะเวลาให้เอกชนเก็บคืนสาร ให้เวลาน้อยเกินไปเพราะได้กระจายจำหน่ายสารไปแล้ว ต้องมีขบวนการเรียกคืน นำส่ง ร่วมถึงติดตามที่ไปของสาร ขณะเดียวกันหากให้ส่งคืนประเทศต้นทาง คงเป็นเรื่องยากบริษัทต้นทางจะรับกลับ เพราะได้ซื้อจ่ายขาด และการเผาทำลายต้องทำถึง 2 ครั้ง คือ เผาสารและเผาควัน เป็นสารพิษร้ายแรง เกิดสารไดอ๊อกซินทางอากาศมหาศาล ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเผาหมด เพราะฉะนั้นควรชะลอการบังคับกฎหมายแบน3สาร ออกไปอีก 2 ปีหรือ สองรอบการเพาะปลูก จะทำให้ใช้ในภาคเกษตรหมด ถ้าหากแบนจริงวันที่ 1 ธ.ค.นี้จะฟ้องศาลในเรื่องความเสียหายของ3สารไปเจอกันที่ศาล