posttoday

คิ๊กออฟ 'พระราม 4 โมเดล!! แก้รถติดระยะทาง12 กม.หัวลำโพง-พระโขนง

18 พฤศจิกายน 2562

คมนาคมเดินหน้าโครงการ 'พระราม4โมเดล' ผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน ใช้บิ๊กดาต้าควบเอไอ แก้วิกฤติรถติดหนักมาก เห็นผลใน 1 ปี  พร้อมลุยต่อแก้รถติดพระราม 6-อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คมนาคมเดินหน้าโครงการ 'พระราม4โมเดล' ผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน ใช้บิ๊กดาต้าควบเอไอ แก้วิกฤติรถติดหนักมาก เห็นผลใน 1 ปี  พร้อมลุยต่อแก้รถติดพระราม 6-อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา จัดทำแผนแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน หลังจากประสบความสำเร็จกับโครงการสาทรโมเดล ซึ่งสามารถแก้ปัญหารถติดในบริเวณดังกล่าว จึงขยายผลมาพัฒนาระบบในเส้นทางพระราม 4 ซึ่งเป็นเส้นทางช่วงแนวถนนพระราม 4 ตั้งแต่หัวลำโพง-พระโขนง ระยะทาง 12 กิโลเมตร(กม.) มีระยะเวลาในการจัดทำแผน18 เดือน (พ.ย.62-เม.ย.64) ใช้งบประมาณน 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ถนนพระราม 4 เป็นหนึ่งในถนนที่มีปัญหารถติดทั้งวัน มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งย่านการค้าเชิงพาณิชย์ ย่านธุรกิจ สำนักงานออฟฟิศ โรงแรมขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัยสำคัญ เป็นต้น โดยโครงการนี้จะเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกับเส้นทางสาทรโมเดลที่ได้เข้าไปแก้ปัญหาแล้วในเฟส 1

ด้านกทม.เจ้าของพื้นที่พร้อมให้การสนับสนุนโครงการทั้งด้านการแบ่งปัน big data การเชื่อมข้อมูลกล้องวงจรปิด CCTV ตลอดจนงบประมาณปรับปรุงกายภาพถนนและเครื่องหมายจราจร ขณะที่ประชาชนควรจะหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนเวลาเข้าทำงานเพื่อกระจายปริมาณการเดินทางเข้าเมืองช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตลอดจนใช้บริการจุดจอดแล้วจร (Park&Ride)เพื่อนำรถไปจอดแล้วเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือรถเมล์

ขณะที่นายชิน โอยาม่า ประธานมูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ กล่าวว่า ผลลัพธ์ของความสำเร็จจากสาทรโมเดล นั้น พบว่ามียานพาหนะความเร็วเพิ่มขึ้น 12.6% หรือสปีดเพิ่มขึ้นจาก 8.8 กม.เป็น 14.8 กม. ลดปริมาณท้ายแถวรถติดสะสมช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้ 1 กม.

สำหรับถนนพระราม 4 นั้นมีปริมาณจราจรสูงแยกไฟแดงเยอะ รูปแบบก็จะแตกต่างไปที่ถนนพระราม 4 ไม่ได้มีโรงเรียนเยอะ เหมือนในถนนสาทร ซึ่งอาจจะใช้บางรูปแบบบางอย่าง เช่น การปรับสัญญาณไฟจราจรในรูปแบบ AI ติดกล้องวงจรปิดทุกสี่แยกให้ตำรวจจราจรเห็นภาพจราจรจริง ซึ่งจะจัดการสัญญาณไฟได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันมีอีก1 โปรเจ็คที่อยู่ระหว่างการเริ่มพัฒนาแผนแก้รถติดระหว่างปี 2020-2021 เป็นเส้นทางพระรามที่ 6 รูปแบบถนนสี่เหลี่ยมจตุรัส มีจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางพหลโยธินแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนประดิพัทธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตัดกับถนนพระราม 6 ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชวิถี วนเข้าสู่จุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการขยายผลการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหารถติดไปยังเส้นทางอื่น รัฐบาลไทยวางเป้าก่อตั้งสถาบันแก้ปัญหาจราจรยั่งยืน ภายใน 5 ปี เป็นการ่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบ PPP เพื่อนำเม็ดเงินและเทคโนโลยีไปพัฒนาแก้ปัญหาเส้นทางอื่นต่อไป

ด้านรศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ ภาค วิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 4 นั้น เน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)เข้ามาบริหารปริมาณจราจร เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชน โดยเฉพาะการควบรวมข้อมูลแบบ Big Data เพื่อประมวลผลข้อมูลแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ ทั้งด้าน เซนเซอร์จับปริมาณการจราจรตามสี่แยกไฟแดงเพื่อกำหนดการปล่อยจราจรให้สอดคล้องกับสภาพจริงมากที่สุด

นอกจากนี้ยังจะมีการใช้ระบบ AI เข้ามาบริหารความคล่องตัวของสภาพจราจร และในอนาคตมีแผนจะจัดทำป้ายอัจฉริยะตามแนวเส้นทางที่รถติด เพื่อบอกปริมาณช่องจอดรถที่ยังว่างอยู่ของแต่ละอาคารตามแนวเส้นทางโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่ได้ทราบถึงจุดจอดรถ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมส่งเสริมให้ประชาชนใช้การสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาจราจรในกรุงเทพ ควบคู่ไปกับการลงทุนก่อสร้างหรือขอเช่าพื้นที่จุดจอดรถ ส่งเสริมให้ประชาชนขับรถมาจอดแล้วเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ