posttoday

RSPOดันมาตรการดึงรายย่อยเข้ามาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืนหวังลดต้นทุน

18 พฤศจิกายน 2562

การประชุมน้ำมันปาล์มยั่งยืน (RSPO) หวังเกษตรกรปาล์มน้ำมันไทยรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนมากขึ้นผ่านการใช้มาตรฐาน RSPO และดึงผู้ประกอบการรับผิดชอบร่วมกัน หวังลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

การประชุมน้ำมันปาล์มยั่งยืน (RSPO) หวังเกษตรกรปาล์มน้ำมันไทยรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนมากขึ้นผ่านการใช้มาตรฐาน RSPO และดึงผู้ประกอบการรับผิดชอบร่วมกัน หวังลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

RSPO ได้จัดการประชุมประจำปีครั้งที่ 17 ที่กรุงเทพเมื่อเร็วๆนี้และได้เน้นการใช้มาตรฐาน RSPO สำหรับเกษตรกรรายย่อยอิสระฉบับใหม่ที่เข้าใจง่ายขึ้น และเอื้อให้เกษตรกรใช้เครื่องมือที่มีต้นทุนไม่สูงเกินไป โดบคำนึงถึงศักยภาพที่ต่างกันของเกษตรกร โดยให้แรงจูงใจบนหลักเกณฑ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน กฎความรับผิดชอบร่วมกันที่พิจารณาในการประชุมครั้งที่เพิ่งผ่านไปนี้จะสร้างความสมดุลมากขึ้นโดยมีการเน้นที่การใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน

ดาโต๊ะ ดาร์เรล เวเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RSPO กล่าวว่า “กฎใหม่สำหรับความรับผิดชอบร่วมกัน มุ่งหวังให้สมาชิกทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความต้องการของการใช้น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน”

RSPOดันมาตรการดึงรายย่อยเข้ามาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืนหวังลดต้นทุน

ศาณินทร์ ตรียานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยกล่าวว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันปาล์มได้ปีละประมาณ 3 ล้านตัน เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและไบโอดีเซล โดยมาเลเซียมีการผลิต 20 ล้านตัน และอินโดนีเซีย 40 ล้านตันต่อปี โดยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ในขณะที่อีก 2 ประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ปลูกรายใหญ่

“ทั้ง 3 ประเทศสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ร้อยละ 90 ของการผลิตทั่วโลก ประเทศไทยจึงอยู่ใกล้ตลาดโลก และราคาปาล์มน้ำมันขึ้นลงตามตลาด ในปัจจุบันเกิดราคาตกต่ำ การประกันราคาเป็นเพียงมาตรการช็อคระยะสั้น รัฐบาลควรมองมาตรฐาน RSPO ว่าเป็นอาวุธที่ช่วยให้เกษตกรลดต้นทุน และได้กำไรสูงสุดในสภาวะตลาดนั้นๆ โดยช่วยให้เกิดการร่วมกลุ่มและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการปลูก มาตรฐาน RSPO ยังเป็นการบอกกับผู้ซื้อว่าเกษตรกรทำได้ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและประเด็นที่เป็นข้อกังวลเช่นการใช้สารเคมี”

ธิตินัย พงศ์พิริยะกิจ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนของ GIZ กล่าวว่า GIZ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงกรมวิชาการการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อสนับสนุนงานด้านความยั่งยืนของการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเริ่มใช้ระบบความยั่งยืนของ RSPO ในประเทศไทยในปี 2551

จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรไทย15 กลุ่มหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.9 ของเกษตรกรไทยทั้งหมดทำตามมาตรฐานนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเริ่มมีการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มจากประเทศไทยมากขึ้น เช่นจากบอดี้ ชอป และเทสโก้ โลตัสหลังจากที่เกษตรกรเริ่มใช้ RSPO

ในการประชุมครั้งที่ผ่านมายังมีการเปิดตัวความคิดริเริ่มใหม่ ได้แก่สถาบันฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อย เพื่อพัฒนาบุคลากรที่สามารถพัฒนาผู้อื่นต่อได้ ทำให้ RSPO เข้าถึงเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันขนาดเล็กมากขึ้นด้วยการฝึกอบรมด้านการเกษตรที่ดีที่สุด และได้มีการพูดถึงหัวข้อเทคโนโลยีบล็อคเชนในการตรวจสอบย้อนกลับของน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึง 30 มิถุนายน 2562 จำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองของ RSPO ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 และโดยจำนวนเกษตรกรรายย่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 165 พื้นที่ที่ผ่านการรับรองโดย RSPO ทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 22 ปีต่อปี หรือประมาณ 24.3 ล้านไร่ ใน 16 ประเทศ และสมาชิก RSPO ยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องในการหลีกเลี่ยงการบุกเบิกพื้นที่และการปลูกใหม่บนดินพรุ

การประชุมน้ำมันปาล์มยั่งยืนจะมีการจัดขึ้นทุกปี โดยเวียนไปทั้ง 3 ประเทศในแต่ละปี