posttoday

'คมนาคม' เตรียมลงทุนโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย 40,000 ล้านบาท

26 สิงหาคม 2562

กรมทางหลวง เล็งเปิดประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ระยะทาง 18 กิโลเมตรในปี 2564 พร้อมเปิดบริการปี 2568

กรมทางหลวง เล็งเปิดประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ระยะทาง 18 กิโลเมตรในปี 2564 พร้อมเปิดบริการปี 2568

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 18 กิโลเมตร (กม.) ว่า โครงการ M5 ดังกล่าว จะเป็นการรองรับการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ทั้งยังรองรับการเดินทางของประชาชน เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ด้วย

สำหรับการลงทุนนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา 2.81 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 2.66 หมื่นล้านบาท ค่างานระบบ 1.01 พันล้านบาท ค่าควบคุมงาน 414 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 100 ล้านบาท และงานระบบรวมถึงบริหาร 1.18 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี แบ่งเป็นค่าซ่อมบำรุง 6.13 พันล้านบาท รวมถึงค่างานระบบและบริหาร 5.68 พันล้านบาท
โดยเอกชนเป็นผู้ดูแลช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตบางปะอิน ส่วนด้านรูปแบบโครงการอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นร่วมทุนแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13%

นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาของโครงการฯนั้น หลังจากการเปิด Market Sounding ในครั้งนี้ไปแล้วนั้น จะจัดให้มีการสัมภาษณ์กลุ่มของเอกชนที่สนใจ เพื่อลงรายละเอียดของโครงการอีก 1 ครั้ง จากนั้นจะสรุปผลเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2563 ก่อนที่จะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารประกวดราคาได้ในช่วงปลายปี 2563 พร้อมเปิดประมูลภายในต้นปี 2564 และได้ผู้ชนะการประมูลช่วงปลายปี 2564 ก่อนเริ่มต้นก่อสร้างโครงการฯในปี 2565 ซึ่งจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568

สำหรับปริมาณจราจรนั้นในปีแรก ที่เปิดให้บริการ 2568 จะมีปริมาณ 2.1 หมื่นคัน/วัน ก่อนเติบโต 150% ในช่วง 15 ปีแรก คิดเป็นเฉลี่ย 5 หมื่นคัน/วันในปี 2583 และเพิ่มเป็น 6.8 หมื่นคันในปี 2597 ส่วนด้านรายได้นั้นคาดว่าในปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 423 ล้านบาท/ปี ก่อนเพิ่มเป็น 1.52 พันล้านบาท/ปี ในปี 2583 คิดเป็นรายได้สะสมรวม 1.23 หมื่นล้านบาทในช่วง 15 ปีแรก

หลังจากนั้นในปี 2584-2597 จะมีรายได้สะสมรวม 3.19 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รายได้สะสมที่ตั้งเป้าตลอด 30 ปี รวมทั้งสิ้น 4.42 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเม็ดเงินลงทุนทั้งโครงการที่ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนทางการลงทุน(Margin) 10%

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง ระบุว่า โครงการดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทางยกระดับอุตราภิมุขที่เปิดให้บริการในปัจจุบันบริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต ประมาณ กม.33+924 ถนนพหลโยธิน จุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน กม.1+880 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สามารถเชื่อมโยงโดยตรงเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา รวมระยะทาง 18 กม. คลอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และอ.บางปะอินอ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ตลอดสายทางมีจุดขึ้นลงหรือจุดเชื่อมต่อทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ ด่านรังสิต 1 ใกล้กับโรงกษาปณ์ บริเวณ กม.35+000 ถนนพหลโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับทางยกระดับอุตราภิมุขที่ให้บริการปัจจุบัน 2.ด่านรังสิต 2 ใกล้ ม.กรุงเทพ เชื่อมต่อ การเดินทางจากถนนพหลโยธิน ประมาณ กม.35+930 3.ด่านคลองหลวง ใกล้กับแยกต่างระดับคลองหลวงเชื่อมต่อการเดินทางจากถนนพหลฯ กม.39+175

4.ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใกล้กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อมต่อการเดินทางถนนพหลฯ กม.42+980 5.ด่านนวนคร ใกล้นิคมอุตสาหกรรมนวนครเชื่อมต่อการเดินทางจากถนนพหลฯ กม.45+070 6.ด่านวไลยอลงกรณ์ ใกล้ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์เชื่อมต่อการเดินทางถนนพหลฯ กม.49+285

7.ด่านประตูน้ำพระอินทร์ บริเวณตลาดประตูน้ำพระอินทร์ เชื่อมต่อการเดินทางถนนพหลฯ กม.50+740 และ 8.ด่านบางปะอิน ที่ทางแยกต่างระดับบางปะอินเชื่อมต่อการเดินทางจาก ทล.32 กม.1+280 และเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา

'คมนาคม' เตรียมลงทุนโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย 40,000 ล้านบาท