posttoday

สำรวจ“กานา”ถิ่นกำเนิด shea butter อัญมณีประทินผิว

23 พฤษภาคม 2562

โดย กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

โดย กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

กานา Gold Coast แห่งแอฟริกาตะวันตก สวรรค์ของนักขุดทอง ใครๆก็พูดถึงทองคำเมื่อนึกถึงกานา โดยในอดีตประเทศกานาจะเป็นท่าเรือที่สำคัญโดยเฉพาะทองคำจนมีชื่อเสียงเรียกขานจากชาวยุโรปว่า ท่าเรือแห่งทองคำ (Gold Coast)จนถึงปัจุบันประเทศกานามีการพัฒนาไปมาก มีสินค้าอื่นๆเข้ามาทดแทนการส่งออกทองคำ ได้แก่ เมล็ดโกโก้ สับปะรด เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง เชียบัทเตอร์ ที่เป็นส่วนผสมตั้งต้นที่สำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางค์

รวมถึงปลาทูน่าที่อยู่ในทะเลชายฝั่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโอกาสในการลงทุนและทำธุรกิจในประเทศกานายังเปิดกว้างอยู่เสมอ โดยเฉพาะนักลงทุนที่แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่นับวันจะหายากขึ้นเรื่อยๆ

ทางบีโอไอได้ร่วมกับ มูลนิธิวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง จัดทริปสำรวจ บุกเบิกตลาดและโอกาสในการลงทุนในประเทศกานา ระหว่างวันที่ 5-12 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา จากการศึกษาพบว่า กานา ยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขวาง เหมาะสมแก่ การเพาะปลูก และประชากรในวัยแรงงานที่มีอย่างเพียงพอ ในขนาดประเทศที่มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าที่จะส่งออกไปยังทวีปยุโรปผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกโดยตรง นอกจากนี้ยังมีท่าเรือที่สำคัญได้แก่ ท่าเรือเมืองเทมา (Tema)และที่เมืองทาโคราดี (Takoradi)เพื่อเป็นทางผ่านให้กับกลุ่มประเทศในทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาที่ไม่มีทางออกทะเล ซึ่งประเทศกานามีชายฝั่งทะเลยาวถึง 539 กิโลเมตร

สำหรับโอกาสในการลงทุน นั้น อันดับแรก อุตสาหกรรมทางการเกษตรและแปรรูปอาหาร จะเห็นได้ว่า ประเทศกานายังมีการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ทั้งๆที่ประเทศกานามีพื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าทางประเทศกานา มีพื้นที่กว้างขวางก็จริง แต่ยังขาดระบบชลประทาน ที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ก็จะไม่สามารถกักเก็บไว้ได้ในฤดูฝน จากสาเหตุข้างต้น จึงเป็นโอกาสให้กับนักลงทุนไทยสามารถเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและเพาะปลูกในอุตสาหกรรมทางการเกษตร โดยเฉพาะเทคนิคการปลูกข้าวที่ให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสม รวมถึงการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เช่น แปรรูปสับปะรด มันสำปะหลัง เชียบัทเตอร์ และเมล็ดโกโก้ เป็นต้น ซึ่งในประเทศกานาเองมีผลผลิตที่มากมายแต่ก็ไม่สามารถแปรรูปได้เอง จึงมีเพียงอุตสาหกรรมขั้นต้นที่เน้นเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งออกโดยตรง

สำรวจ“กานา”ถิ่นกำเนิด shea butter อัญมณีประทินผิว



โอกาสถัดไปในอันดับสองได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน ประเทศกานาเริ่มมีการใช้เครี่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกลที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เช่น รถไถ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้เอง ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษา และจัดจำหน่ายอะไหล่ รวมถึงการฝึกอบรมการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

โอกาสอันดับสามได้แก่ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศกานายังผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศ ผลิตได้เพียง 3,655 เมกะวัตต์ โดยพลังงานส่วนใหญ่จะได้มาจากเขื่อนและถ่านหิน ในขณะที่ประเทศยังมีความต้องการพลังงานสูงไปเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงทางประเทศกานาเองมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเพื่อบริหารการจัดการด้านพลังงาน และระบบชลประทานซึ่งมีเพียงร้อยละ 0.2 จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

สุดท้ายที่น่าสนใจคือโอกาสในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอาง จากการที่กานามีวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกต้องการคือต้น Shea ที่จะมีอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น ผลของต้น Shea จะถูกนำมาทำเป็น Shea Butter ซึ่งจะใช้ผสมในครีมบำรุงต่าง ๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางค์จำนวนมาก และมีอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

นอกจากนี้ประเทศกานายังได้มีการทำข้อตกลงทางการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรป จีน และอเมริกา ทำให้การส่งออกสินค้าจากในประเทศเหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษีระหว่างกัน โดยไม่มีข้อจำกัดที่เข้มงวด ซึ่งในโอกาสนี้เอง เป็นจุดสำคัญ สำหรับนักลงทุนที่แสวงหาที่ตั้งทางธุรกิจที่มีแรงงานที่เพียงพอ และมีท่าเรือที่ไม่ห่างไกลจากกลุ่มประเทศยุโรป และอเมริกา เพื่อลดต้นทุนในการผลิต รวมถึงได้ใช้สิทธิพิเศษทางการค้าให้มีประโยชน์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจต่อไป

ในครั้งนี้ทางคณะได้ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิโดยสายการบินพันธมิตรของการบินไทย ได้แก่ สายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ โดยบินตรงมายังประเทศเอธิโอเปีย และต่อมายังกรุง อักครา เมืองหลวงของประเทศกานาในที่สุด โดยใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 14 ชั่วโมง จากสภาพพื้นที่เมืองหลวงที่ติดชายฝั่งทะเล กรุงอักครา (Accra)ภูมิอากาศที่ร้อนชื้น ส่วนในภาคเหนือของประเทศจะมีลักษณะเป็นที่ราบแห้งแล้ง ประชากรในขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 28 ล้านคน และ 50% ของประชากรจะอยู่ในเขตเมือง โดยมีผู้นับถือศานาคริสต์ 70% อิสลาม 15 % ที่เหลือเป็นการนับถือตามความเชื่อของท้องถิ่น โดยประเทศกานามีท่าเรือทีสำคัญคือ Tema และ Takoradi มีเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เช่น เมล็ดโกโก้ เพื่อแปรรูปทำเป็นสินค้าก่อนส่งออกยังกลุ่มประเทศยุโรปต่อไป

ปัจจุบันประเทศกานามีการปกครองด้วย ประธานาธิบดี ซึ่งมีระบบการเมืองที่เข้มแข็ง และมีเสรีภาพในการปกครอง จุดนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญของประเทศที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจในการลงทุน รวมถึงมีข้อตกลงทางการค้าที่มีประโยชน์กับนักลงทุน โดยเฉพาะการตกลงการค้ากับอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปจึงทำให้มีการยกเว้นภาษีระหว่างกันนอกจากนี้จากการเดินสำรวจย่านการค้าจะพบว่า โดยทั่วไปจะมีสินค้าทางประเทศจีน ซึ่งมีราคาที่ไม่สูงมากนักและประชาชนสามารถเข้าถึงได้

สำหรับถนนหนทางในตัวเมืองค่อนข้างแออัดเต็มไปด้วยรถยนต์ โดยจะเป็นรถยนต์มือสองจากต่างประเทศ ระบบไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอในบางพื้นที่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนมีการเข้าถึงระบบโทรคมนาคมได้ค่อนข้างสูง โดยพบว่ามากกว่า 50 % ของประชากรทั้งประเทศได้มีโทรศัพท์มือถือใช้งาน

อย่างไรก็ดีทางคณะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากประเทศกานา (Ghana Investment Promotion Centre)และจากทางสถานทูตไทย ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ซึ่งได้ดูแลคณะเป็นอย่างดี เนื่องจากในประเทศกานาเองยังไม่มีสถานทูตไทยตั้งอยู่อย่างเป็นทางการ ส่วนในการกินอยู่ อาหารการกินรสชาติมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมืองไทย มีการใช้เครื่องเทศในการปรุงรส และเนื้อในการบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อไก่ ซึ่งมีการนำเข้าจากประเทศบราซิลที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าการเลี้ยงไก่ภายในประเทศ การบริโภคข้าวมีบ้างแต่ไม่มากเนื่องจากต้องมีการนำเข้าและมีผลผลิตไม่เพียงพอการบริโภคภายในประเทศ โดยประชาชนนิยมจะบริโภคแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมีผลผลิตจำนวนมากและมีการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารเก็บไว้รับประทานเป็นก้อนๆคล้ายขนมปัง เพื่อรับประทานกับแกงต่างๆ น้ำประปามีความสะอาดแต่เพียงพอในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ในพื้นที่นอกเมืองจะใช้น้ำบาดาล ซึ่งทั้งประเทศมีแหล่งน้ำเพียงพอในการบริโภคและใช้สอย

ส่วนค่าเงินในปัจจุบันจะอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐต่อ 5.20 เซดิ (Ghana Cedi) โดยค่าแรงจะอยู่ประมาณ 65 บาทต่อวัน การลงทุนขั้นต่ำจากต่างชาติ กำหนดอยู่ไว้เพียง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 25 % และสำหรับการถือครองที่ดินนั้น ทางประเทศกานาอนุญาตให้ต่างชาติเช่าระยะยาวได้เท่านั้น สูงสุดไม่เกิน 99 ปี

อย่างไรก็ตามถึงแม้ประเทศกานาจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาแต่ก็มีแนวโน้มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามี GDP เติบโตมากกว่า 6.5% โดยมีนักลงทุนจีนและอินเดีย เข้าการลงทุนอย่างมากในขณะนี้ อุปสรรคที่สำคัญในการลงทุนที่ประเทศกานา ได้แก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รอการพัฒนา ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่ครอบคลุมในส่วนต่างๆของประเทศ แต่ด้วยความมั่นคงทางด้านการเมืองการปกครอง จึงทำให้ประเทศกานามีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้เกิดการลงทุน และการพัฒนาทั้งด้านการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งบริษัท และการทำธุรกิจภายในประเทศ

รวมถึงการทำข้อตกลงการค้ากับกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน ยุโรป อเมริกา รวมถึงการการติดต่อสื่อสารที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และการมีเมืองท่าที่สำคัญที่เป็นทางผ่านจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันตก ที่ไม่มีทางออกทะเล(Land lock) ที่อยู่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทางตอนเหนือของประเทศ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะเชิญชวนให้นักลงทุนได้เข้าไปสัมผัสโอกาสทางธุรกิจในประเทศแห่งนี้ซึ่งมีฉายา ท่าเรือแห่งทองคำ (Gold Coast) ก็จะยังคงอยู่ต่อไปไม่มีวันจางหายไป