posttoday

สั่งอาหารผ่านแอปฯดันธุรกิจ Food Deliveryพุ่ง 3.3-3.5 หมื่นล้าน

22 พฤษภาคม 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร จะสร้างรายได้ให้ Food Deliveryเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงถึง 33,000 – 35,000 ล้านบาท ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร จะสร้างรายได้ให้ Food Deliveryเติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงถึง 33,000 – 35,000 ล้านบาท ในปี 2562

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery) ไม่เพียงแต่ผลักดันให้ธุรกิจ Food delivery ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารรวมถึงร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สะท้อนจากผลสำรวจ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างสูงถึง 63% คิดว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่าน Application ประเภทต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของตน

ทั้งนี้บทบาทของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่เพิ่มขึ้นและยังเติบโตสูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 14 % จากปีก่อน

ปัจจุบันภาคบริการและอุตสาหกรรมในประเทศต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเข้ามาของการเปลี่ยนแปลงจากทางด้านเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า Digital Disruption ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำธุรกิจและกระบวนการผลิต แต่ยังส่งผลไปถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เห็นได้จากกรณีของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจร้านอาหาร

ธุรกิจร้านอาหารจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของภาคบริการในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท มีห่วงโซ่ในธุรกิจที่เชื่อมโยงมากมายไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตวัตถุดิบ ธุรกิจขนส่ง หรือธุรกิจจัดเลี้ยง โดยครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดเล็ก และในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบทั้งในด้านการสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าในตลาด

ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายที่สำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) โดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มีความต้องการที่หลากหลายอีกทั้งยังต้องการการตอบสนองจากผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ที่มีการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีในปี 2557–2561 อยู่ที่ประมาณ 10% สูงกว่าการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 3-4% ต่อปี

สั่งอาหารผ่านแอปฯดันธุรกิจ Food Deliveryพุ่ง 3.3-3.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์การเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) จะส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหาร ดังนี้ 1.แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ผู้เล่นหน้าใหม่ที่สร้างจุดเปลี่ยนในธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงมีบทบาทในธุรกิจประเภทนี้มากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นจากทั้งจำนวนร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ในระบบมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็นจำนวนการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้ประกอบการบางรายมีจำนวนเฉลี่ยการสั่งอาหารต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ผู้เล่นในกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารหลายๆร้านเข้าด้วยกันรวมไปถึงนำเสนอบริการจัดส่งอาหารให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชั่นต่างชาติที่ให้บริการจัดส่งสินค้าหลายประเภทและครอบคลุมไปยังบริการจัดส่งอาหารอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าไทยบางรายที่พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดโดยการเพิ่มบริการจัดส่งอาหารในธุรกิจของตน แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เล่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่แต่กลับพบว่าเป็นกลุ่มที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง รวมไปถึงเป็นกลุ่มที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery)

2.เครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า ผู้นำตลาดที่จำเป็นต้องปรับตัวจาก Digital Disruption โดยในอดีตผู้เล่นในกลุ่มนี้จะมีประเภทของอาหารจำกัดอยู่แค่เพียง อาหารจานด่วน อาทิ พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น ทั้งนี้จากการที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารมีการเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งสินค้า จำเป็นต้องมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ได้ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร อาจมีส่วนช่วยให้มูลค่าของธุรกิจ Food Delivery มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหารมาเป็นค่าจัดส่งสินค้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นยังได้กระจายตัวไปยังผู้เล่นต่างๆในห่วงโซ่ธุรกิจอีกด้วย อาทิ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่สามารถมีทางเลือกของอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการรับงานผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย คาดว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์นี้ น่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มูลค่าประมาณ 3.9 พันล้านบาท

ขณะที่ร้านอาหารซึ่งรวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารเพื่อขยายจำนวนฐานลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรเงินทุนและแรงงานในส่วนของระบบขนส่งเอง ทำให้อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจมีส่วนแบ่งของรายได้มูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ทางฝั่งของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารเองนั้นก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากค่าบริการที่ได้รับทั้งทางฝั่งร้านอาหารและผู้บริโภค ทำให้อาจมีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณ 3.4 พันล้านบาท จากมูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 ที่ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารอย่างน่าสนใจ โดยมีผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น อาทิ โดยการเพิ่มช่องทางการสั่งซื้ออาหารและความหลากหลายของประเภทอาหาร รวมไปถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การเข้ามาของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ยังอาจกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือและควบรวมกิจการของธุรกิจในห่วงโซ่ร้านอาหารมากขึ้นกว่าในอดีต และส่งผลต่อเนื่องให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 14 จากปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562

-