posttoday

ครม.ตีกลับปมเอกชนขอปรับเงื่อนไขลงทุนมาบตาพุดเฟส 3

21 พฤษภาคม 2562

ครม.ยังไม่อนุมัติเงื่อนไขลงทุนมาบตาพุดเฟส3 กำชับเจรจาเอกชนลดภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสภาพัฒน์ฯจี้ใช้กลไกเจรจาให้ถึงที่สุด

ครม.ยังไม่อนุมัติเงื่อนไขลงทุนมาบตาพุดเฟส3 กำชับเจรจาเอกชนลดภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสภาพัฒน์ฯจี้ใช้กลไกเจรจาให้ถึงที่สุด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 ได้พิจารณาการขอปรับปรุงหลักการของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 โดย ครม. ยังไม่ได้ให้การอนุมัติการปรับปรุงหลักการโครงการดังกล่าว แต่ให้ดำเนินการความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ควรให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) และการนิคมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ในฐานะเจ้าของโครงการ ใช้กลไกการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกอย่างถึงที่สุดก่อน

ทั้งนี้สศช.ระบุว่าในการเจรจาของ สกพอ. และ กนอ.ควรมีเป้าหมายให้ค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียง ซึ่งในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่3 ฉบับวันที่ 31 ต.ค. 2561 กำหนดวงเงินลงทุนของโครงการได้ครอบคลุมถึงค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด และอัตราค่าเสียโอกาสทางการเงินแล้ว ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เอกชนได้รับผลตอบแทนในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการในระดับที่ดีและสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกไม่สามารถดำเนินการเจรจาต่อรองดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายได้ ก็ควรให้พิจารณาแนวทางอื่นๆ ที่จะช่วยลดภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ กนอ. ในภาพรวม เช่น การระดมทุนจากการออกพันธบัตร ซึ่งจะช่วยให้กนอ.ได้รับผลตอบแทนทางการเงินจากการดำเนินโครงการนี้ตามที่ประมาณการไว้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของ กนอ.ในอนาคตอีกด้วย

นายณัฐพร กล่าวว่า การขอปรับปรุงหลักการดังกล่าว เกิดจากการเจรจากับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอโครงการ ซึ่งทำให้เงินร่วมลงทุนแต่ละปีของ กนอ. ที่จะร่วมลงทุนกับเอกชนโดยการจ่ายคืนให้กับเอกชนตลอดระยะเวลา 30 ปี เพิ่มขึ้นสุทธิ 516.36 ล้านบาท เป็น 720 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นรวม 6,109 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ กนอ.จะได้รับลดลง 29% หรือ 2,705 ล้านบาท จาก 9,311 ล้านบาท เหลือ 6,606 ล้านบาท ในขณะที่เอกชนจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินเพิ่มขึ้นจาก 10.06% เป็น 10.75%

สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มีเอกชนยื่นประมูล 1 ราย จากผู้ที่แสดงความสนใจโดยการซื้อซองประมูลไปทั้งหมด 18 ราย คือ บริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มกันระหว่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) อยู่ระหว่างการเจรจาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและผลตอบแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐ