posttoday

อธิบดีกรมรางคนใหม่คุมเบ็ดเสร็จ รถไฟ-รถไฟฟ้า-ไฮสปีด เอกชนหวั่นอำนาจล้นมือ

21 พฤษภาคม 2562

คมนาคม ยันกรมรางฯเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ เล็งออกเกณฑ์คุม KPI รถไฟฟ้า พ่วงชดใช้ค่าเสียหายหากเกิดดีเลย์ ดัน local content ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางรางไทย

คมนาคม ยันกรมรางฯเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ เล็งออกเกณฑ์คุม KPIรถไฟฟ้า พ่วงชดใช้ค่าเสียหายหากเกิดดีเลย์ ดัน local content ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางรางไทย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและ จราจร(สนข.) ว่าที่อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (กรมราง) เปิดเผยว่าการจัดตั้งกรมราง เป็นภาระกิจหลักที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการผลักดันตั้งแต่ช่วงต้นการเข้ามาบริหารประเทศในช่วงปี 2558 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนเรื่องระบบรางหลายแสนล้านบาท ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าเมืองหลวงและรถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ยังมีภาระกิจเข้ามายกระดับงานบริการขนส่งสาธารณะที่เห็นภาพชัดๆ คือ การตั้งค่าประเมิน KPI ในงานบริการรถไฟฟ้า เช่น แต้มตรงต่อเวลาแต้มความแออัดของผู้โดยสารและแต้มความพึงพอใจเป็นต้น รวมจะเข้ามาคุมเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดบริการ นอกจากนี้ยังมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่..)พ.ศ... ว่าด้วยการ จัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ... ซึ่งอยู่ระหว่างผลักดันบังคับใช้ภายในปีนี้ ทำหน้าที่เป็นกฎหมายให้เอกชนต้องปฎิบัติตาม รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวกับระบบราง ดังนั้น ภาระกิจงานจะครอบคลุม รถไฟ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนโครงการระบบราชในอนาคตจนทำให้บางฝ่ายเกิดความเกรงกลัวถึงขอบเขตอำนาจของกรมดังกล่าว ทั้งการตั้งค่าประเมินประจำปี KPI ซึ่งจะมาพร้อมบทลงโทษหากไม่ทำตาม เช่น การปรับเงิน หรือการชดเชยค่าใช้จ่ายให้ผู้โดยสาร (payback)ในกรณีรถไฟฟ้าขัดข้องหรือมีการล่าช้าเกิดขึ้น(Delay)เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ตลอดจนคุมราคาค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม การเร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบราง การสร้างกติกาทีมีผลทางกฎหมายให้ปฏิบัติร่วมกัน ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลโครงการเช่น กำหนดสัดส่วนวัตถุดิบที่ต้องผลิตในประเทศ (local content) เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางรางของไทย อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้สำหรับประวัติการศึกษานายสราวุธ ทรงศิวิไลนั้น ปี 2520 – 2523 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์สิงหเสนี), ปี 2523 – 2524 มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, ปี 2524 – 2528 วศ.บ. (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปี 2530 – 2532 วศ.ม. (ชนส่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนประวัติการทำงานนั้น พ.ศ. 2529 – 2540 วิศวกรโยธาฝ่ายแผนงานกองบำรุงกรมทางหลวง พ.ศ. 2540 – 2545 หัวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือสำนักบริหารบำรุงทางกรมทางหลวง พ.ศ. 2545 – 2547 ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานผู้รับจ้าง(งานจดทะเบียนผู้รับเหมา) กรมทางหลวง พ.ศ. 2547 – 2549 ผู้อำนวยการสำนักงานบำรุงทางธนบุรี(แขวงการทาง) กรมทางหลวง พ.ศ. 2549 – 2550 ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพ กรมทางหลวง

พ.ศ. 2550 – 2552 ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดกลยุทธ์และแผนงานบำรุงทาง สำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง พ.ศ. 2552 – 2556 ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่8 (นครราชสีมา) กรมทางหลวง พ.ศ. 2556 – 2557 รองอธิบดีกรมทางหลวง(ฝ่ายวิชาการ) กรมทางหลวง พ.ศ. 2557 – 2560 รองอธิบดีกรมทางหลวง(ฝ่ายบำรุงทาง) กรมทางหลวง พ.ศ. 2560 – 2561 ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.