posttoday

แตะเบรก ดีลกฟผ.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี พลังงานห่วงกระทบค่าไฟปี'63

20 พฤษภาคม 2562

กบง. สั่งกฟผ.เจรจา ผู้ชนะประมูลนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ปรับแผนนำเข้าปี'63 หวั่นปริมาณมากเกินความต้องการ โดนเก็บค่าTAKE OR PAY กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า

กบง. สั่งกฟผ.เจรจา ผู้ชนะประมูลนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ปรับแผนนำเข้าปี'63 หวั่นปริมาณมากเกินความต้องการ โดนเก็บค่าTAKE OR PAY กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ยังไม่อนุมัติผลผู้ชนะประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี ) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากเป็นห่วงในเรื่องปริมาณการจัดหาก๊าซฯกับปริมาณการใช้ในแต่ละช่วงยังไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในปี 2563 หากนำเข้ามาตามแผน เมื่อนำมารวมกับก๊าซในส่วนที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำหน่าย ก็อาจจะมีปัญหาก๊าซธรรมชาติเหลือใช้ และจะเกิดปัญหาต้นทุนค่าก๊าซฯ ที่จ่ายเพิ่มจากกรณีสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (TAKE OR PAY)จะกระทบค่าไฟฟ้า จึงมอบให้ กฟผ.ไปเจรจากับผู้ชนะประมูลว่า จะปรับเปลี่ยนปริมาณนำ
เข้าอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาระดังกล่าว โดยให้นำเรื่องกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กบง.พิจารณาอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้การประมูลดังกล่าวคัดเลือกจากผู้เสนอ 12 ราย โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามข้อกำหนด คือ ราคาจะต้องมีส่วนลดสูงสุดเมื่อเทียบกับราคานำเข้าของสัญญาระยะยาวทุกสัญญาที่ประเทศไทย ซึ่งทางปตท.ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไว้ในปัจจุบันรวมปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี โดย กฟผ.นับเป็นผู้นำเข้ารายแรกตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access: TPA)

“จากการประมูลทั้งก๊าซแอลเอ็นจีของ กฟผ.และก๊าซที่ผลิตจากแหล่ง บงกช-เอราวัณ มั่นใจได้ว่าค่าไฟฟ้าตลอดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี2018) จะได้ตามกำหนด 3.58 บาทต่อหน่วย ซึ่งกรณีเอราวัณ-บงกช จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้ 15 สตางค์ต่อหน่วยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป "นายศิริกล่าว

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กบง.ได้มีมติอนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนบริหารจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2561-2580 (Gas Plan 2018)ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่ปริมาณก๊าซฯที่ผลิตจากอ่าวไทยจะเริ่มทยอยลดลง โดยปี 2562 ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 60-62% และจะลดลงเหลือ 28% ในปี 2580 ซึ่งความต้องการใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าในปี 2562 อยู่ที่5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,500 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2580 จึงจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น โดยไทยจะนำเข้ารวม 23 ล้านตันต่อปีในปี 2580 ปรับลดลงจากแผนก๊าซฯ เดิม (Gas Plan 2015) ที่กำหนดไว้อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579

รายงานข่าวจากกฟผ. เพิ่มเติมว่า คณะทำงานฯ ของ กฟผ.ได้คัดเลือกให้บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะการเปิดประมูลจัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีให้กับ กฟผ.ปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 8 ปี