posttoday

ทีวีดิจิตอลที่เหลือ15ช่องรอรับทรัพย์ !!เม็ดเงินโฆษณากว่า120 ล้านไหลเข้า

14 พฤษภาคม 2562

ภาพรวมทีวีดิจิตอล 15 ช่อง ต้องเร่งปรับตัว งัด Content พัฒนา platform เพื่อชิงส่วนแบ่งงบโฆษณาหลัง 7 ช่องจอดำ

ภาพรวมทีวีดิจิตอล 15 ช่อง ต้องเร่งปรับตัว งัด Content พัฒนา platform เพื่อชิงส่วนแบ่งงบโฆษณาหลัง 7 ช่องจอดำ

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI
และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวถึง ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบที่น่าจะเกิดขึ้นตามมา จากการยุติออกของช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมวดเด็กและข่าว คือ 1.ช่อง 13 หรือ 3 Familyแฟมิลี่ 2.ช่อง 14 หรือ MCOT Family 3.ช่อง 19 หรือ Spring News 4.ช่อง 20 หรือ Bright TV 5.ช่อง 21 หรือ Voice TV 6.ช่อง 26 หรือ Spring26 (NOW 26 เดิม) 7.ช่อง 28 หรือ 3 SD

ทั้งนี้ผลกระทบทางลบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับ พนักงาน เจ้าหน้าที่ พันธมิตรที่เกี่ยวข้องของทั้ง 7 ช่อง ได้รับความเดือนร้อน จากการปิดสถานี ซึ่งคาดจะมีมากกว่า 1,500 คน ที่ต้องตกงาน และถ้ามองในด้านผู้ชมจะมีทางเลือกน้อยลง

ส่วนด้านบวกในแง่ของผู้ประกอบการ จะลดความเสียหาย ภาระขาดทุนสะสมที่น่าจะเกิดหากดำเนินธุรกิจต่อไป ขณะที่รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่อาจไหลมายัง 15 ช่องที่เหลือเพิ่มขึ้น และการสิ้นสุดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตและดำเนินกิจการของช่องที่ปิดตัว (กลุ่ม BEC,กลุ่ม Nation, กลุ่ม MCOT) อาจจะนำมาพัฒนา content ของช่องที่เหลือ

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลล่าสุด ปริมาณผู้ชมเฉลี่ยของทั้ง 7 ช่องรวมกันแล้วยังไม่ถึง 10% ของผู้ชมเฉลี่ยทั้งหมดของทีวีดิจิทัล และเม็ดเงินโฆษณารวมของทั้ง 7 ช่อง ประเมินแล้วเฉลี่ยมีเพียง 120 ล้านบาท / เดือน ดังนั้น Content ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ซ้ำซ้อนมากไป ต้องมีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนา platform ทางเลือกควบคู่ จะเป็นผลดีต่อผู้ชมและอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในระยะยาว ซึ่งการเข้าถึงผู้ชมที่ไม่กระจัดกระจายเกินไปนัก ส่งผลดีต่อนักสื่อสารการตลาด และ มีเดีย เอเยนต์ซี่

นายภวัต กล่าวว่า ปัจจัยและความท้าทายต่อไปของทีวีดิจิทัลทั้ง 15 ช่องที่เหลือ ไม่ได้มาจากการปิดตัวลงของ 7 ช่องเป็นหลัก แต่อยู่ที่ความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับการถูก DISRUPT ได้ดีแค่ไหน หัวใจสำคัญคือการพัฒนา content, กลยุทธ์ และ platform การรับชมในยุค Digital disruption ที่ผู้ชมมีความต้องการที่หลากหลายและมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้นเรื่อยๆ