posttoday

ระงับงานก่อสร้างชั่วคราว ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบ

15 พฤษภาคม 2562

คอลัมน์ นักกฎหมายโครงการ

คอลัมน์ นักกฎหมายโครงการ

โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณวิโรจน์ พูนสุวรรณ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ
สำนักกฎหมาย บลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ
[email protected]

ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะออกคำสั่งให้ผู้รับจ้างระงับงานก่อสร้างไว้ชั่วคราวเสมอ แต่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าจ้างก่อสร้างของผู้รับจ้างที่เพิ่มขึ้น หรือต้องขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไป เท่ากับระยะเวลาที่ผู้รับจ้างหยุดงานนั้น ยกเว้นการระงับงานจะเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง เช่นระบบการควบคุมรักษาความปลอดภัยของผู้รับจ้างไม่ดี หรือผู้รับจ้างประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ณ สถานที่ก่อสร้าง เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลที่สามหรือของคนงาน ทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งให้ผู้รับจ้างระงับงานไว้ชั่วคราว จนกว่าจะปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบในการก่อสร้างอาคาร

วิศวกรที่ปรึกษาเป็นผู้อนุมัติค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ขยายออกไป

การสั่งให้ผู้รับจ้างระงับชั่วคราวนั้น ต้องเป็นไปตามข้อสัญญารับจ้างก่อสร้างที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาภาคเอกชนหรือสัญญาภาครัฐ ซึ่งสัญญามักจะกำหนดให้ผู้ว่าจ้างมีอำนาจสั่งการเองเป็นลายลักษณ์อักษร หรือกำหนดให้วิศวกรที่ปรึกษาสั่งการแทนผู้ว่าจ้าง และมักจะเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายๆสาเหตุที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นและขยายระยะเวลาให้กับผู้รับจ้าง ซึ่งค่าจ้างและระยะเวลาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ปกติจะให้คนกลางได้แก่วิศวกรที่ปรึกษาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ

ประเด็นเรื่องความเป็นกลางของวิศวกรที่ปรึกษานี้ เป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะโดยหลักการวิศวกรที่ปรึกษา เป็นตัวแทนของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างของวิศวกรที่ปรึกษา ผู้รับจ้างจึงอาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า วิศวกรที่ปรึกษา ไม่เป็นกลางเข้าข้างผู้ว่าจ้าง แต่โดยทั่วไปความเป็นกลางของวิศวกรที่ปรึกษานี้เป็นที่ยอมรับกันโดยคู่สัญญา เพราะเป็นวิชาชีพควบคุม ที่มีสภาวิศวกรดูแลอยู่ และมีกฎหมายเฉพาะคือ พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 คอยกำกับอยู่ หากวิศวกรที่ปรึกษาปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม หรือผิดจรรยาบรรณ ถูกร้องเรียน และมีการสอบสวนขึ้นมา อาจถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต ได้ทีเดียว

เหตุสุดวิสัย เป็นความเสี่ยงภัยของผู้ว่าจ้าง

การระงับชั่วคราว สัญญารับจ้างก่อสร้างจะถือว่าเป็นความเสี่ยงภัยของผู้ว่าจ้าง ที่ผู้ว่าจ้างต้องรับเอาความเสี่ยงภัยนี้เอง จะผลักภาระไปให้ผู้รับจ้างไม่ได้ เพราะตนหรือตัวแทนของตนสั่งหยุดงานเอง โครงการย่อมล่าช้าออกไป ตามระยะเวลาที่ผู้รับจ้างหยุดงานนั้น เมื่อระยะเวลาเนิ่นช้าออกไป ผู้รับจ้างย่อมมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เช่นค่าจ้างรายวันคนงาน ค่าเงินเดือนพนักงานในโครงการ ค่าน้ำค่าไฟของสำนักงานประจำโครงการ ค่าวัสดุอุปกรณ์ ที่สั่งไว้แล้วเขายังไม่มาส่ง ก็ต้องยอมให้เขาส่งของเข้าหน้างาน จะไปสั่งงดส่งของไม่ได้ ช่วงที่หยุดงาน ค่าจ้างรายวันคนงานหลายร้อยคน ไม่ได้หยุดไปด้วย ยังต้องจ้างคนงานเหล่านี้ต่อเนื่อง ผู้ว่าจ้างจึงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ ก่อนที่ผู้ว่าจ้างจะสั่งระงับชั่วคราวจึงต้องพินิจพิจารณาถึงผลกระทบให้ดีดี

เทียบเหตุสุดวิสัย กับ ระงับชั่วคราว

หลักการจำง่ายๆ ว่าใครรับผิดชอบในกรณีระงับชั่วคราว ก็ให้เทียบกับเหตุสุดวิสัย สัญญารับจ้างก่อสร้างจะถือว่าการระงับชั่วคราว เป็นเหตุการณ์ประเภทเดียวกับ เหตุสุดวิสัย ที่เป็นอุปสรรคในการทำงานอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ เช่นสัญญาปลูกป่าฤดูฝน ในเขตที่ราบสูง ไม่มีระบบชลประทานรองรับ เกิดฝนแล้งผิดฤดู ต้นกล้าแห้งตาย เกือบหมด อย่างนี้ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ทั้งในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างที่เพิ่มขึ้น และในส่วนของระยะเวลาก่อสร้างหรือระยะเวลาปลูกป่า ที่ผู้ว่าจ้างต้องขยายให้ผู้รับจ้าง
สัญญารับจ้างก่อสร้างบ้านเรา มักจะบังคับให้ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้รับจ้าง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย แต่สัญญารับจ้างก่อสร้างในประเทศไทย ยังไม่ครอบคลุมไปถึง กำไร ที่ผู้รับจ้างสมควรจะได้รับ ในช่วงระงับชั่วคราว ถ้าจะครอบคลุมให้ถึงกำไร สัญญาก็ต้องระบุ กำไร รวมไว้ในค่าเสียหายด้วย  ซึ่งถ้ามองถึงความเป็นธรรมตามสัญญาแล้ว การระงับชั่วคราวเป็นการกระทำของผู้ว่าจ้าง จะไม่เหมือนเหตุสุดวิสัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภัยธรรมชาติเสียทีเดียว การระบุว่าผู้ว่าจ้างต้องจ่ายกำไรที่เสียไปให้ผู้รับจ้างด้วยในกรณีระงับชั่วคราว จึงถูกต้องและเป็นธรรมร้อยเปอร์เซนต์ ส่วนเหตุสุดวิสัย ซี่งไม่ใช่ความผิดของใคร ผู้ว่าจ้างจะไม่ยอมจ่ายกำไรให้ ก็พอเข้าใจได้

ระงับงานติดต่อกัน 90 วัน ผู้รับจ้างมีสิทธิเลิกสัญญา

การระงับชั่วคราวนานนาน ย่อมกระทบกับการดำรงอยู่ทางธุรกิจของผู้รับจ้าง เนื่องจากผู้รับจ้างมีค่าใช้จ่ายที่เดินอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ไม่ได้ทำงาน สัญญารับจ้างก่อสร้างทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ จึงมักกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการระงับชั่วคราวติดต่อกัน ไว้ที่ 90 วัน หรือสามเดือน ที่จะให้ผู้รับจ้างอดทนต่อการระงับชั่วคราวที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตนได้ หากเกิน 90 วันแล้ว ผู้รับจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ โดยจะไปเข้าสัญญาข้อที่ว่าด้วย การบอกเลิกสัญญาอันเกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง

สิทธิของผู้รับจ้างในการบอกเลิกสัญญานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดที่ครบกำหนด สามเดือน ต้องค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน กล่าวคือเมื่อครบกำหนด 90 วันแล้ว ผู้รับจ้างต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ว่าจ้างเสียก่อน เพื่อขออนุญาตที่จะดำเนินงานก่อสร้างต่อไป

ถ้าไม่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วัน ผู้รับจ้างจึงจะมีสิทธิออกหนังสือบอกกล่าวฉบับที่สอง บอกเลิกสัญญา โดย แจ้งไปยังผู้ว่าจ้างว่า สัญญารับจ้างก่อสร้างสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากการระงับชั่วคราว มีผลกระทบต่องานก่อสร้างทั้งหมดทั้งสัญญา

แต่ในกรณีอื่นที่การระงับชั่วคราว มีผลกระทบเฉพาะต่องานส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วน แม้ว่าจะเป็นงานส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่งานทั้งหมด ผู้รับจ้างก็จะไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะมีสิทธิเพียงตัดงานส่วนที่ได้รับผลกระทบออกจากสัญญาเท่านั้น แล้วจึงเข้าดำเนินงานตามสัญญาตามหนังสือบอกกล่าวของตนต่อไป