posttoday

ซีพีฉลุยคว้าสร้างรถไฟเชื่อม3สนามบิน

13 พฤษภาคม 2562

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินฉลุย กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ชนะ เข้า ครม. 28 พ.ค. นี้

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินฉลุย กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ชนะ เข้า ครม. 28 พ.ค. นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า การประชุม กพอ.เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่าคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพราะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจา

นายคณิศ กล่าวว่า กพอ.ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ และพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือก

ซีพีฉลุยคว้าสร้างรถไฟเชื่อม3สนามบิน

นอกจากนี้ ในวันที่ 14 พ.ค. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงกรอบงบประมาณการลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเพิ่มขึ้น 3,120 ล้านบาท ในส่วนของค่าถมทะเลที่ กนอ. ต้องจ่ายคืนเอกชน ในระยะ 30 ปี เนื่องจากเดิมมีการคำนวณต้นทุนการกู้ยืมด้วยดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ซึ่งเอกชนไม่สามารถกู้เงินในระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จึงคิดต้นทุนใหม่ในอัตราดอกเบี้ย 4.8% ซึ่งทำให้เงินที่ กนอ. ต้องทยอยคืนเอกชนเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท เป็น 720 ล้านบาท หรือเพิ่มปีละ 104 ล้านบาท รวม 30 ปี เป็นเงิน 3,120 ล้านบาท

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ และรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนการลงนามสัญญาการ่วมลงทุนในโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับกลุ่มซีพี ขึ้นอยู่กับว่าผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับการอนุมัติก่อน รวมถึงความพร้อมเรื่องการส่งมอบพื้นที่และการก่อสร้างซึ่งล่าสุดได้แจ้งกับกลุ่มซีพีแล้วว่าให้ร่วมหารือกรณีนี้ไปพร้อมกันจะได้มีความเข้าใจทุกขั้นตอน

นายสุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กพอ. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หรือ Thailand Genome Sequencing Center และให้สำนักงาน กพอ. ประสานหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาโครงการมีมูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยใช้งบประจำปีกของแต่ละหน่วยงาน ที่มีการบรรจุในแผนงานของกระทรวแล้ว

โครงการนี้จะจะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ 2.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub และ 3. ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กพอ. ได้รับทราบ แนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ว่าจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ 1.กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกงานเพื่อให้มีประสบการณ์ตรงกับ ภาคอุตสาหกรรม 2. กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และ 3.กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ทั้งนี้ ในระยะ 5 ปี ในพื้นที่อีอีซีจะต้องการบุคลากรด้านดิจิทัล 180,000 คน โดยเฉลี่ยจะต้องผลิตคนให้ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 40,000 คน แต่ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งในสถาบันการศึกษารัฐและเอกชนจบการศึกษาด้านนี้ประมาณ 20,000 คน และเหลืออยู่ในระบบเพียงปีละ 2 ใน 3 ซึ่งไม่มีเพียงพอกับความต้องการ จึงต้องมีการฝึกอบรมระยะสั้นและระยะกลาง โดยความร่วมมือกับเอกชนดังกล่าว