posttoday

เศรษฐกิจซึม...รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้

13 พฤษภาคม 2562

โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์ 

โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์ 

รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เป็นที่ทราบกันดีเศรษฐกิจไทยออกอาการซึมต่อเนื่องมา 2-3 ปีและมาเร่งตัวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ปัญหาสำคัญมาจากเศรษฐกิจฐานรากที่กำลังซื้อหายไปจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ขณะที่มนุษย์เงินเดือนพวกที่รอค่าจ้างขั้นต่ำคงต้องรอไประยะหนึ่งส่วนธุรกิจที่มีการปรับค่าจ้างประจำปีอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ เหตุเพราะเศรษฐกิจไม่เป็นใจตลาดภายในและส่งออกออกอาการไม่ดีกำลังการผลิตเริ่มชะลอตัว

ผู้ที่ทำธุรกิจหรือค้าขายอยู่ขณะนี้จะรู้ดีว่าเม็ดเงินหายาก กำลังซื้อหายไปโดยเฉพาะช่วงก่อนเปิดเทอมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าเทอม-เสื้อผ้าและสารพัดค่าใช้จ่าย ซึ่งตัวเลขผู้อยู่ในวัยเรียนของไทยประมาณ 13.15 ล้านคน โดยร้อยละ 70 อยู่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ไม่รวมนักเรียนนอกระบบ) มีการประเมินค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคมเฉพาะในกทม.และปริมณฑลประมาณ 2.822 หมื่นล้านบาทบวกกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่ไม่ได้ลดลงทำให้สภาพคล่องติดลบผู้ปกครองบางส่วนต้องพึ่งเงินกู้หรือโรงจำนำ

ปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำซากรัฐบาลรู้ปัญหาอยู่แล้ว มีมาตรการช่วยเหลือค่าเทอมบุตรผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐรายละ 500 บาท ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีคงใช้กับคนไม่มีสตางค์ไม่เป็นผล เพราะรายได้ไม่มากพอที่จะเสียภาษีอยู่แล้ว เศรษฐกิจครัวเรือนที่ชะลอตัวสะท้อนจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่กลายเป็นหนี้เสียเฉียด 4.87 หมื่นล้านบาท  จนธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโครงการคลินิคแก้หนี้ระยะที่ 2 เพื่อปรับสถานะเอ็นพีแอลแต่ที่ผ่านมาได้เป็นเพียงบางส่วนซึ่งหนี้ครัวเรือนของประเทศปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 80 ของจีดีพีมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ด้านการเมืองกำลังชิงไหวชิงพริบหลังกกต. ประกาศรับรอง 349 ส.ส.เขตและ 149 ส.ส.บัญชีรายชื่อทำให้เห็น 2 ขั้วการเมืองแย่งกันตั้งรัฐบาลทำให้พรรคที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 1 คนก็มีราคา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีข่าวหากได้หัวหน้าพรรคใหม่จะมีการต่อรองเกมส์ขอกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เพราะต้องการเอาใจคนใต้แก้ปัญหาราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยต่อรองกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อไปผลักดันเสรีกัญชาแม้แต่พรรคชาติพัฒนาส.ส.ไม่มากยังต่อรองขอกระทรวงอุตสาหกรรม จะโทษใครก็ไม่ได้เพราะพรรคพลังประชารัฐเก็บคะแนนส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ได้ต่ำกว่าเป้าหากจะฟอร์มรัฐบาลทางเลือกและตัวเลือกคงมีไม่มากเรียกว่าลงทุนมากแต่อาจได้น้อย

แต่ถึงแม้บิ๊กตู่จะคัมแบ๊ครอบสองเป็นนายกฯ แต่จะกลายเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำเกินไปเพียงไม่กี่เสียงพวกส.ส.ที่จะโยกไปเป็นรัฐมนตรีก็จะทำให้เสียงไม่ถึงครึ่งของสภา ช่วงโหวตสำคัญพรรคฝ่ายค้านคงจ้องนับหัวป่วยก็ไม่ได้-ตายก็ไม่ได้ ความยุ่งจะเพิ่มมากขึ้นหลังกกต.จะตามสอยใครอีกเพราะมีแบล็คลิสต์อยู่แล้ว

การเมืองไทยหลังเปิดสภาและมีรัฐบาลแต่จะอยู่ยากไม่เรียกว่า “Dead Lock” แล้วจะเรียกว่าอะไร ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ประเมินว่าจะชะลอจากร้อยละ 4.5 เหลือร้อยละ 3.8 เศรษฐกิจภายนอกที่ทรุดตัวจากสงครามการค้าโลกแถมเจอเด้งสองจากปัญหาการเมืองในประเทศเป็นพิษจะทำให้เศรษฐกิจจากนี้ไปน่าจะซึมมากกว่าเดิม

เห็นได้จากความวิตกของภาคเอกชนโดย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) เตรียมทำสมุดปกขาวเสนอรัฐบาลใหม่ให้มีแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นกำลังซื้อโดยเกรงว่าเศรษฐกิจจะนิ่งยาวจากส่งออกที่ชะลอตัวและการบริโภคในประเทศไม่ฟื้นทำให้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมหดตัว ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ “กนง.” ประชุมล่าสุดมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 เป็นผลจากเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

ส่วนกระทรวงการคลังเห็นภาพเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันเตรียมเม็ดเงิน 7.7 หมื่นล้านให้รัฐบาลหน้าไว้กระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจโดยก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธฯใช้ไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านเพื่อพยุงเศรษฐกิจก่อนเลือกตั้ง

ถามว่าปัจจัยระหว่างเศรษฐกิจซึมยาวกับการเมืองที่ยังไม่เห็นทิศทางและแย่งชิงตั้งรัฐบาลมีการต่อรองทุกรูปแบบ หรือแม้แต่ซื้องูเห่าแบบไม่มีมารยาทหรือจริยธรรม ไม่มีใครขี่ม้าขาวอีกต่อไปเหลือแต่ขี่ม้าดำสกปรก

สำหรับประชาชนไม่มีทางเลือกเพราะหย่อนบัตรเลือกเขาไปแล้วก็จบหมดราคาคงได้แต่ดูหน้าจอทีวี หากถามผมช่วงเวลาเช่นนี้ไม่ต้องคิดเศรษฐกิจปากท้องมาก่อนแน่นอน แต่การเมืองยืดเยื้อรัฐบาลที่จะตั้งใหม่จะเอาตัวรอดก็ยากแล้วจะหวังพึ่งใคร ตอนนี้รัฐมนตรีไขก๊อกเหลือครม.แค่ครึ่งของที่เคยมี ขณะที่สมาชิกสนช.ลาออกไปกว่า 60 คน รายชื่อส.ว.ก็คงประกาศแล้วสัญญาณเหล่านี้แสดงว่าบิ๊กตู่มั่นใจเต็มร้อยได้ฟอร์มรัฐบาลคงไม่ต้องรอนาน...แต่จะอยู่นานหรือเปล่าไม่ทราบครับ 

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)