posttoday

กระตุ้นเศรษฐกิจเฮือกสุดท้าย...ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง

29 เมษายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพีเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จการทำงาน เพราะก่อนคสช.เข้ามาเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แค่ร้อยละ 0.7 ถึงแม้ว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้จะดันเศรษฐกิจไปได้เฉลี่ยร้อยละ 3.9-4.0 แต่เศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจมีแนวโน้มที่ชะลอตัวเป็นผลจากสงครามการค้าโลกและปัจจัยภายนอกเป็นตัวฉุดทำให้การฟื้นตัวของประเทศใหญ่ๆช้ากว่าที่คาด ซ้ำด้วยเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องทำให้ภาคส่งออกของไทยไม่สามารถเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีต กระทบไปถึงราคาสินค้าเกษตรและการซบเซาของการบริโภคในประเทศตามมาด้วยเสียงแซ่ซ้องของชาวบ้านว่ากระเป๋าแห้งท้องไม่อิ่ม

คำถามรัฐบาลดันเศรษฐกิจเต็มที่ใช้เงินไปเป็นหลักล้านล้านบาท แต่ทำไมประชาชนยังบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดีจนกลายเป็นจุดอ่อนช่วงเลือกตั้งให้พรรคคู่แข่งโจมตี หากส่องกล้องจะเห็นได้ว่ารัฐบาลใช้เงินมหาศาลเพื่อที่จะดันจีดีพีให้เข้าเป้า เฉพาะเมกะโปรเจคโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อนุมัติโครงการต่างๆในช่วง 3 ปีใช้เงินไปประมาณ 1.796 ล้านล้านบาทแต่ใช้เงินจริงแค่ 7.95 แสนล้านบาท อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีใช้เงินไปกว่า 6.5 แสนล้านบาทยังไม่รวมตัวเลขรถไฟฟ้าสายระยองของกลุ่มซีพีซึ่งโจทย์กำหนดไว้ว่ายังไงคงลงตัวกันได้ ช่วงก่อนเลือกตั้งครม.ยังอนุมัติส่งท้ายอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจแบบแพ็คเกจเพื่อพยุงเศรษฐกิจรอรัฐบาลใหม่อีก 1.5 แสนล้าน ล่าสุดตามมาด้วยเงินกระตุ้นเที่ยวเมืองรองคนละ 1,500 บาทวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

ที่กล่าวตัวเลขยืดยาวเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคสช.ใช้เงินไปมากมายเพียงใดในการกระตุ้นเพื่อพลิกเศรษฐกิจ แต่การตอบสนองของภาคเศรษฐกิจจริงน้อยมากเหตุเพราะไทยพึ่งพาสัดส่วนส่งออกสูงพอการขยายตัวไม่ดีทำให้เศรษฐกิจฐานรากยุบตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งท่าทีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 36 วัน ยังไม่มีท่าทีว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร แม้แต่กกต.ยังไม่ลงตัวการคำนวณสูตรที่มาของส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หลายเขตต้องเลือกตั้งใหม่ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูกเคาะมีมูลถือหุ้นสื่ออาจเจอใบส้มขณะที่วันประกาศผลเลือกตั้งเหลืออีกไม่กี่วันจะทันหรือไม่ยังบอกไม่ได้

การเมืองยืดเยื้อไม่เป็นผลดีกับคนไทยกระทบเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนจนภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติออกมาโวยว่าเศรษฐกิจอยู่ในขาลงและชะลอตัว ช่วงรอยต่อการเมืองที่ไม่ลงตัวทำให้การลงทุน-กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้จ่ายภาครัฐสะดุดเพื่อต้องรอทิศทางของรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ หากพลังประชารัฐเป็นแกนบิ๊กตู่ก็จะกลับมาซึ่งตามโรดแมปเป็นเต็งหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญถูกดีไซน์แบบเทย์เลอร์เมด “TaylorMade” ฟิตตัวเฉพาะพลเอกประยุทธ์ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้นโยบายประเทศก็จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่จำนวนส.ส.ที่ปลิ่มการบริหารคงไม่ง่ายเหมือนเดิม แต่หากเกมส์พลิกพรรคเพื่อไทยเป็นแกนตั้งรัฐบาลซึ่งแน่นอนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งนโยบายและคนที่เป็นกลไก ซึ่งตรงนี้ที่ภาคเอกชนเขากังวลและราชการประจำเขาก็ต้องระวังตัว

สำหรับชาวบ้านใครมาใครไปก็คงเหมือนเดิมกองเชียร์อาจสะใจช่วงแรกเพราะลุ้นกันอยู่นาน แต่ไม่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลในยุคคะแนนเสียงไม่ขาดฝ่ายค้านมีพลังมากจ้องที่จะสอยกันลูกเดียวทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นจะยังไม่กลับมาการลงทุนคงขยับไม่มากสิ่งที่เห็นทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒฯ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจเอกชนต่างปรับตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 เหลือร้อยละ 3.8 ส่วนดัชนีอื่นๆ ล้วนขยับลดลงทั้งสิ้น ตรงนี้เป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นคุณประยุทธ์หรือใครก็แล้วแต่จะต้องเข้ามาเผชิญ

ต้องยอมรับว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาใช้เงินเป็นประวัติการณ์แต่ภายใต้เศรษฐกิจไทยในยุคทุนใหญ่วิวัฒน์ทำให้เงินไปกระจุกที่บริษัทก่อสร้างระดับบิ๊กที่เข้าถึงกลไกรัฐ ขณะที่ภาคค้าปลีกและค้าส่งก็ไม่ต่างกันเป็นลักษณะกึ่งผูกขาดอยู่ที่กลุ่มธุรกิจใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้เงินที่ใส่ไปเท่าไรก็ไหลไปอยู่ในกระเป๋าของทุนเหล่านี้ แม้แต่เงินจากบัตรสวัสดิการของรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้มาแล้วก็ไปรูดที่ร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ซึ่งครอบงำตลาดแบบเบ็ดเสร็จ ต่างไปจากอดีตที่ระบบค้าปลีกของเรากระจายตัวไปที่ผู้ขายรายย่อยรวมถึงการลงทุนของรัฐเน้นโครงการเล็กหรือไม่ใหญ่มากที่ทุนระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงทำให้เงินกระจายตัวชาวบ้านซื้อขายกันทำให้เงินหมุนเวียน

ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านเห็นว่าควรจะมีการทบทวนทฤษฎีกระแสหลักที่ใช้กันมาเป็นร้อยปีรวมถึงทฤษฎีของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเป็นเจ้าของหลักการให้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงขาลงเพื่อดึงการเติบโตของจีดีพีซึ่งใช้กันมาตั้งแต่พ.ศ. 2479 อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ถูกผูกขาดด้วยทุนขนาดใหญ่ เงินใส่ไปเท่าไรก็ถูกดูดไปหมดไม่หมุนเวียนที่จะทำให้การบริโภคในประเทศกลับมาขับเคลื่อน คำตอบคงไม่มีปล่อยให้พวกรัฐมนตรีหรือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาแก้ปัญหากันเอง แต่คงต้องรอหน่อยนะครับ......

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือwww.facebook.com/tanit.sorat)