posttoday

สงครามการค้าพ่นพิษ ฉุดส่งออกเดือนมี.ค.วูบ4.9%

22 เมษายน 2562

"พาณิชย์" เตรียมพิจารณาหั่นเป้าส่งออกใหม่ส่อต่ำกว่า 8% หลังปัญหาข้อขัดแย้งสหรัฐ-จีนยังยืดเยื้อ ภาพรวมไตรมาสแรกติดลบ 1.64% ลุ้นครึ่งปีหลังกลับมาเป็นบวก

"พาณิชย์" เตรียมพิจารณาหั่นเป้าส่งออกใหม่ส่อต่ำกว่า 8% หลังปัญหาข้อขัดแย้งสหรัฐ-จีนยังยืดเยื้อ ภาพรวมไตรมาสแรกติดลบ 1.64% ลุ้นครึ่งปีหลังกลับมาเป็นบวก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยถึง ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ ว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2562 กลับมาหดตัวที่ 4.9% มีมูลค่า 21,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญ ซึ่งมาจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ระหว่างสหรัฐกับจีน แม้จะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ถือว่ายังมีความกังวลและวิตกว่าทั้ง 2 ประเทศจะจบลงอย่างไร รวมทั้งจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ และการเมืองในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงของภาคสินเชื่อและธนาคารของจีน นอกจากนี้ ราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ

ทั้งนี้ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มี.ค.)ติดลบ 1.64% มีมูลค่า 61,987.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่า 19,436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.6% โดยการนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ 59,981.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเดือนมีนาคมอยู่ที่ 2,004.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


อย่างไรก็ตาม หากผลการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศทั้งสหรัฐและจีน สามารถตกลงกันได้ดี ประกอบกับการดำเนินนโยบายภาครัฐในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในระยะเดียวกัน อาทิ การส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังของจีน เพื่อชดเชยผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีทางการค้า เชื่อว่าแนวโน้นการส่งออกของไทยในไตรมาสที่เหลือ ถึงครึ่งปีหลัง จะกลับมาดีขึ้นได้โดยประเมินการส่งออกไทยไตรมาส 2 หากยังส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่า 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสตัวเลขจะกลับมาเป็นบวกและส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีเติบโตเกินกว่า 3-6% ได้ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเตรียมจะพิจารณาปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2562 ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะโตไม่น้อยกว่า 8% ซึ่งต้องรักษาสัดส่วนการส่งออกให้ได้เดือนละกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าลำบากพอสมควร.