posttoday

เลื่อนประมูลสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ส่วนต่อขยาย รอเคลียร์ค่าโดยสาร

16 เมษายน 2562

กทม.เลื่อนประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ส่วนต่อขยาย 2.5 หมื่นล้านบาท รอเคลียร์ค่าโดยสารก่อน เผย 3 ปมร้อนตั้งโต๊ะเจรจา กทม-บีทีเอส จบภายใน 1 เดือนตามบัญชา ‘บิ๊กตู่’ เผยเอกชนหวั่นขาดทุนนับแสนล้านหากตามเกมกทม.

กทม.เลื่อนประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ส่วนต่อขยาย 2.5 หมื่นล้านบาท รอเคลียร์ค่าโดยสารก่อน เผย 3 ปมร้อนตั้งโต๊ะเจรจา กทม-บีทีเอส จบภายใน 1 เดือนตามบัญชา ‘บิ๊กตู่’ เผยเอกชนหวั่นขาดทุนนับแสนล้านหากตามเกมกทม.

นายภาณุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวางแผนและจราจร กรุงเทพมหนคร(กทม.) เปิดว่าความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนPPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้ส่วนต่อขยายช่วง คูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาทและ สมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้ต้องขยับไทม์ไลน์โครงการออกไปเพราะจำเป็นต้องเจรจาเรื่องค่าโดยสาร 65 บาทกับผู้ประกอบการเดิมและหาตัวเอกชนมารับงานเดิารถช่วงสายสีเขียวเหนือ-ใต้ คือช่วง หมอชิต-คูคต และ ช่วง อ่อนนุช-สมุทรปราการ ดังนั้นตอนนี้ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบขอบเขตเงื่อนไขการเข้าประมูลโครงการ ตามเป้าหมายนั้นจะเร่งเสนอร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา(TOR) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2563 จากเดิมมีแผนเปิดประมูลต้นปี 2562 แต่ทั้งนี้เมื่อได้รับอนุมัติแล้วยังมีห้วงเวลาสำหรับการคัดเลือกเอกชนและเจรจาสัญญาไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตามขณะนี้ผลศึกษาถูก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตีกลับผลศึกษาให้มาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อผู้โดยสารในกรณีที่มีผู้ประกอบการเดินรถสองราย กล่าวคือรายเดิมนั้นจะเดินรถบนสัมปทานเดิมช่วง หมอชิต-อ่อนนุช และรายใหม่จะเดินรถในส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งหมด อาทิ ส่วนต่อขยายสายเหนือช่วงคูคต-ลำลูกกา และส่วนต่อขยายสายใต้ช่วงสมุทรปราการ-บางปู เพื่อรอให้สัมปทานของรายเดิมหมดเสียก่อน ซึ่งทางสคร.แนะนำให้เพิ่มข้อมูลเรื่องความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อระบบต้องเปลี่ยนคันหรือไม่ รวมถึงการกำหนดค่าโดยสารที่ต้องสอดคล้องกันของทั้งสองผู้ประกอบการ แต่ทั้งนี้ยังไม่ปิดโอกาสของผู้ประกอบการเดิม แต่ตอนนี้ขอเวลาศึกษาก่อนว่ากทม.จะจ้างรายใหม่เข้ามาเดินรถ หรือจ้างรายเดิม หรือกทม.จะลงมือทำเองเลย ตัวเลือกยังไม่นิ่ง

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูง กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่าการเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมคือบีทีเอสให้เข้ามารับงานเดินรถช่วงสายสีเขียวเหนือ-ใต้ต่อไปโดยไม่ประกวดราคานั้นมีเงื่อนไข 3 ข้อที่บีทีเอสต้องยอมรับ 1.ค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสาย ช่วงลำลูกกา-บางปู 2.เอกชนลงทุนเองทั้งหมดและจ่ายส่วนแบ่งรายปีให้กทม. ตามที่ตกลงกัน 3.รับภาระค่าโอนหนี้สินและทรัพย์สินของโครงการมูลค่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามจากการเจรจาที่ผ่านมา ทางบีทีเอสยอมรับเงื่อนไขรับภาระ 1 แสนล้านบาทได้ แต่ทว่าเอกชนยังหนักใจมากที่สุดคือเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร 65 บาท เพราะอาจเสียหายทางรายได้มากกว่าภาระหนี้ 1 แสนล้านบาท คาดว่าอาจจะเสนอขอปรับเพิ่มตัวเลขเพื่อให้ตกลงกันได้ ส่วนเรื่องหนักใจรองลงมาคือการแบ่งรายได้ให้กทม. เพราะที่ผ่านมาสัมปทานสายสีเขียวเอกชนลงทุนเองทั้งหมดแต่ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กทม. เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขใหม่คล้ายกับรายจ่ายพ่วงตลอดอายุสัมปทาน อีกทั้งส่วนต่อขยายชานเมืองดังกล่าวนั้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเมื่อวัดจากยอดผู้โดยสารสายสีม่วงเหนือช่วงปลายเส้นทางบริเวณสถานีชานเมืองแถบบางใหญ่ หรือการชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 เพราะเกรงว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ต้องเจรจากับกทม.ตามคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต้องจบภายใน 1 เดือนนั้นเชื่อว่าคงจะหาข้อสรุปร่วมกันได้เพื่อเสนอรายงานไปยังรัฐบาล เบื้องต้นมีประเด็นที่ต้องคุยกัน 2-3 ประเด็น อาทิ เรื่องค่าโดยสารและผลตอบแทนแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามบีทีเอสพร้อมเดินหน้าเจรจาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างไม่ติดขัดและมีความสุข