posttoday

มนุษย์เงินเดือนมีเฮ

19 กุมภาพันธ์ 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

หากจะถามว่าอาชีพไหนรักชาติมากที่สุด ก็คงต้องตอบว่า ทหาร หรือ ตำรวจที่คอยปกป้องรักษาประเทศไทย แต่หากมองในมุมของอาชีพที่เสียภาษีเพื่อบำรุงประเทศมากที่สุด (มองในมุมของการเสียภาษีนะครับ ไม่ได้มองในมุมของจำนวนเงินที่จ่ายภาษี) ผมก็คงต้องยกให้มนุษย์เงินเดือนครับ เพราะเป็นอาชีพที่เสียภาษีให้กรมสรรพากรก่อนที่ตนเองจะได้เงิน และเป็นอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้น้อยที่สุด เพียง 60,000 บาท (กรมสรรพากรกำหนดให้เงินได้ของมนุษย์เงินเดือน เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้าง มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน  ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท)

และเพราะภาษีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บจากผู้มีเงินได้เป็นอัตราภาษีก้าวหน้า คือ ยิ่งเงินได้สุทธิสูง ยิ่งเสียภาษีแพง

และเงินได้สุทธิ คำนวณมาจาก เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน ดังนั้น เมื่อเทียบเงินได้พึงประเมินเท่ากัน พวกมนุษย์เงินเดือนจะเสียภาษีมากกว่า เพราะหักค่าใช้จ่ายได้น้อยกว่า คือสูงสุดแค่ 60,000 บาท ตัวอย่างเช่น หากเทียบมนุษย์เงินเดือนกับพวกหมอ พวกหมอจะหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ ตัวอย่างเช่น หากหมอมีเงินได้ 1 ล้านบาท ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้ 6 แสนบาท หากหมอมีเงินได้ 10 ล้านบาท ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้ 6 ล้านบาท แต่หากมนุษย์เงินเดือนมีเงินได้ 1 ล้านบาท ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้ 6 หมื่นบาท หรือหากมีเงินได้ 10 ล้านบาท ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 6 หมื่นบาทเท่าเดิม และหากลองคำนวณหาเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนว่า 60000 บาทที่กรมสรรพากรให้เป็นค่าใช้จ่ายนั้น พอใช้จ่ายมั๊ยในแต่ละเดือน จะคำนวณได้เท่ากับเดือนละ 5000 บาทเท่านั้น ไม่พอใช้จ่ายแน่ๆ และยิ่งของแพงขึ้นทุกๆปี ขณะที่เงินเดือนก็ไม่ได้ขึ้นตามเงินเฟ้อได้ทัน ก็ทำให้มนุษย์เงินเดือนมีปัญหาด้านการเงินอย่างที่หลายคนทราบๆกันอยู่

ที่ผ่านมาก็เคยได้ข่าวกรมสรรพากรจะปรับความไม่ยุติธรรมเหล่านี้ โดยปรับเรื่องค่าใช้จ่ายของมนุษย์เงินเดือน แต่ก็เหลวมาตลอด มาครั้งนี้ก็ดีใจที่ได้ยินคุณประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาบอกว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะเสนอข้อสรุปในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปยังนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหลักการในการปรับปรุงภาษีจะทำให้คนรายได้น้อยสบายมากขึ้น คนจนยิ้มได้ เพราะภาษีที่ปรับปรุงใหม่นั้นจะเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีทุกราย ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวทำให้กรมสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างภาษีใหม่นี้จะประกาศใช้ในปีภาษี 2560 คือ เริ่มได้ตั้งแต่การยื่นภาษีปี 2561 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

-เบื้องต้นมีการเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจาก 6 หมื่นบาท เป็น 1-1.2 แสนบาท ถ้าสมมติเป็น 1.2 แสนบาท ก็จะทำให้คนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งก็น่าจะดี เพราะ 25,000 บาท คิดเป็นรายได้ต่อวันแค่ 833 บาทเท่านั้น อาจจะพอใช้จ่ายแต่ไม่พอให้มีเงินออมสำหรับอนาคตเลย

-จะมีการปรับปรุงขั้นการเสียภาษีใหม่จาก 7 ขั้น และปรับปรุงรายได้ในแต่ละขั้นใหม่ รวมถึงกำลังสรุปเรื่องว่าควรจะปรับอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ 35% หรือไม่ ซึ่งก็ควรจะปรับลดลงให้ยุติธรรมกับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจครับ เพราะอัตราภาษีที่แท้จริงของเจ้าของธุรกิจขณะนี้อยู่ที่ 28% ขณะที่คนทำงานอัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ที่ 35% ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น และจะจูงใจให้หลายคนวางแผนภาษีโดยการจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลขึ้นมาแทน เพราะนอกจากเสียภาษีต่ำกว่าแล้ว ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายได้โดยไม่มีเพดานกั้น สุดท้ายแล้วหากมีคนจัดตั้งบริษัทมากๆเพื่อวางแผนภาษี กรมสรรพากรแทนที่จะเก็บภาษีได้มากขึ้น ก็จะเก็บภาษีได้น้อยลง

-ค่าลดหย่อนอื่นๆที่เคยมีข่าวว่าจะปรับลด ก็จะไม่ลดค่าลดหย่อน ส่วนเรื่องค่าลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว 1.5 หมื่นบาทที่หมดอายุไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2558 นั้น กรมสรรพากรก็จะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้ต่ออายุอีก 2 ปี เป็นหมดอายุ 31 ธันวาคม 2560 ในวงเงินลดหย่อนเท่าเดิมปีละ 1.5 หมื่นบาท

หากข้อมูลเหล่านี้เป็นจริง ก็ภาวนาอย่าเลิกหรือสะดุดกลางคันอีก และขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมสรรพากรปัจจุบันที่มองทุกอย่างในสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ใช่มุ่งแต่จะเก็บภาษีมากๆ และมองมนุษย์เงินเดือนเป็นของตายที่เก็บภาษีได้มากอยู่แล้วไม่ต้องปรับอะไร ทำนองรีดเลือดจากปู จนมนุษย์เงินเดือนจะไม่มีเงินเหลือแล้ว