posttoday

ตลาดแรงงาน...เตรียมรับผลกระทบเศรษฐกิจ ทรุดตัวหนักและลากยาว

09 สิงหาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สัปดาห์ที่แล้วหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินต่างทยอยปรับตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพีลดต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เป็นผลจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งผูกติดกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงผู้ติดเชื้อทะลุเกินสองหมื่นรายต่อเนื่องหลายวัน

ด้านการเข้าถึงวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนต้องลุ้นว่าจะมาตามนัดหรือไม่ การปรับจีดีพีรอบนี้ได้นำปัจจัยการที่รัฐบาลยังไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดของโควิดและการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจทั้งในกทม.และจังหวัดต่างๆ มากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ ความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่มความเสี่ยงสูงว่าอาจฟื้นตัวได้ช้าสะท้อนจากการปรับตัวเลขจีดีพีของสถาบันการเงินซึ่งเห็นภาพเศรษฐกิจจริงได้มากกว่าภาพส่วนอื่น

ธนาคารชาติหรือ “ธปท.” ปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2564 ร้อยละ 0.7 ลดจากเดิมร้อยละ 1.8  ศูนย์วิจัยของแบงค์พาณิชย์ระดับแนวหน้า 5 แห่งเฉลี่ยเศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1.06  ขณะที่สำนักเศรษฐกิจการคลังประเมินเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ1.3 จากเดิมร้อยละ 2.3  อีกทั้ง “กกร.” เป็นองค์การร่วมของภาคเอกชนระบุว่าจีดีพีอาจถึงขั้นหดตัว ในความเห็นผมอาจแรงไปหน่อยเพราะภาคส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 15-16 มีเม็ดเงินเพิ่มจากปีที่แล้วถึง 8.595 แสนล้านบาทหรือเท่ากับร้อยละ 5.42 ของ GDP (ปี 2563) อีกทั้งรัฐบาลมีแผนใช้เงินจากพรก. 5 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอาจช่วยค้ำยันให้เศรษฐกิจไม่ถึงขั้นถดถอย

ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันทางแบงค์ชาติเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีเชื่อมั่นภาคธุรกิจหรือ“BSI : Business Sentiment Index” เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าทั้งภาคการผลิต, บริการ, ก่อสร้าง, อสังหาฯ ล้วนอยู่ในทิศทางหดตัว ประเด็นสภาพคล่องเป็นความเปราะบางของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ได้แค่ 3 เดือน สอดคล้องกับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมของ “ม.หอการค้าไทย” อยู่ระดับ 40.9 จากเต็ม 100 เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เคยสำรวจมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 โดยความเชื่อมั่นลดลงทั้งด้านเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำและดัชนีรายได้ในอนาคต

การที่ทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชนออกมาประสานปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ ลงค่อนข้างต่ำไปจนถึงหดตัวแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการทรุดตัวหนักมากกว่าที่คาด การที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัวต่ำสุดส่งผลต่อดัชนีค้าปลีกซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังจะลดต่ำจากกำลังซื้อที่หดตัวอย่างรุนแรงสะท้อนจากการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาการกักตุนสินค้าน้อยมากเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปีที่แล้ว  ปัจจัยการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 80 มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศส่งผลต่อธุรกิจจำนวนมากที่รายได้ลดหรือหายไป

ผลที่ตามมาคืออำนาจการจับจ่ายใช้สอยจะหดตัวคาดว่า ไตรมาส 3 ดัชนีผู้บริโภคอาจหดตัวถึงร้อยละ 10 กระทบไปถึงกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม    ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาเพียงการส่งออกที่ยังขยายตัวขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีสัดส่วนประมาณ    ร้อยละ 45 อาจหดตัว อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากโรงงานจำนวนมากมีคนงานติดเชื้อหลายแห่งต้องมีการปิดโรงงานทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลง เห็นได้ว่าเศรษฐกิจมีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเมื่อภาคส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบก็จะกระทบเป็นลูกระนาดไปยังภาคส่วนอื่นๆ เปรียบเหมือนงูกินหาง

คำถามสภาวะเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่อตลาดแรงงาน แน่นอนเศรษฐกิจกับการจ้างงานมีความสัมพันธ์เป็นนัยแบบ “ปาท่องโก๋” หากมองในกรณีเลวร้ายหรือ “Worst Case Scenario” เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดยังรุนแรงและคนติดเชื้อยังมีจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้การล็อกดาวน์อาจต้องขยายทั้งจำนวนจังหวัดที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ลากยาวออกไป สมมติเพียงแค่เดือนกันยายนยังล็อกดาวน์จะทำให้ธุรกิจ SME อาจต้องปิดตัวเป็นจำนวนมากแรงงานที่ทำงานอยู่จะไปอยู่ตรงไหน

ส่วนผลกระทบจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าแรงงานเหล่านั้นทำงานอยู่ในธุรกิจโซนใด หากอยู่ในอุตสาหกรรมส่งออกและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิดหรือสินค้าที่จำเป็นต้องกินต้องใช้ประจำวัน ซึ่งการจ้างงานก็อาจทรงตัวชั่วโมงการทำงานอาจลดไปบ้างก็ดีกว่าไม่มีงานทำ ขณะที่แรงงานจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ยังไม่เห็นอนาคตอาจไม่โชคดีเช่นนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยว่าวิกฤตโควิดจะจบลงเมื่อใด วันนี้คงอีกนานพอควรขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะอึดและลูกจ้างซึ่งได้ค่าจ้างบ้างไม่ได้ค่าจ้างบ้างจะทนอยู่ได้นานเพียงใด

ด้านผลกระทบตลาดแรงงานจำนวนคนว่างงานทั้งระยะ 1-12 เดือนรวมถึงที่เกินหนึ่งปีรวมกันประมาณ 9.7 แสนคนยังไม่รวมนักศึกษา-นักเรียนจบใหม่ซึ่งตัวเลขไม่แน่นอนว่าได้งานไปมากน้อยเพียงใด  ที่น่าสนใจและต้องติดตามคือผู้เสมือนว่างงานทำงาน 1-19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไตรมาสแรกปีนี้มีประมาณ 1.27 ล้านคน ล่าสุดไตรมาสสองพุ่งไปถึง 2.8 ล้านคนมีแรงงานย้านถิ่นกลับไปบ้านต่างจังหวัดสูงถึง 1.6 ล้านคนแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงาน ภายใต้วิกฤตโควิดหากการระบาดและล็อกดาวน์ลากยาวธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะ SME และรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 95 ของวิสาหกิจรวมกันมีโอกาสเสี่ยงสูงที่ต้องปิดกิจการซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอย่างรุนแรง

ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลโดย “บิ๊กตู่” ซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะจะต้องเร่งทำคือการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเงินมีอยู่แล้วจากพรก.กู้เงิน 5.0 แสนล้านบาทต้องเร่งนำออกมาใช้ รวมถึงเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินยังเหลืออยู่ประมาณ 1.8 แสน

ล้านบาททำไมยังปล่อยไม่ได้ติดขัดตรงไหนให้ไปดู ขอยืมบางส่วนและขออนุญาตเขียนเพิ่มเติมจากวลีของท่าน “ว.วชิรเมธี” กล่าวว่า “เชื้อโรค (โควิด) ลุกลามติดต่ออย่างรวดเร็วทุกนาทีมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 14 คน การระบาดไม่รอระบบราชการ ไม่สนใจแบบแผนใด ในยามวิกฤตในการทำงานไม่ควรเน้นสร้างภาพหรือเล่นเกมส์การเมือง อย่าเรื่องมากอะไรทำได้ก็เร่งทำ ติดโน้นติดนี้หยุมหยิมไปหมด ติดยึดแต่ระบบ-ระเบียบจนเกินเหตุกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน อย่าโยนกันไปโยนกันมีทั้งกรรมการชุดเล็กชุดใหญ่....อะไรทำได้ก็เร่งทำเพราะบ้านเมืองเสียหายไปมากแล้วครับ”

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat