posttoday

ความท้าทายรัฐบาลประยุทธ์ฯ 2/2...ภายใต้เศรษฐกิจเปราะบางและแรงกดดันรอบข้าง

03 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ 'เศรษฐกิจรอบทิศ' ดร.ธนิต โสรัตน์รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ปลายสัปดาห์ที่แล้วหลังราชกิจจานุเบกษามีประกาศรัฐมนตรีลาออกพร้อมกับการลงตัวของรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ 6 คนแต่ 7 ตำแหน่งเนื่องจากคุณปรีดี ดาวฉาย ควบรองนายกฯ และรมว.คลัง สำหรับกระทรวงพลังงานคงไม่ใช่โควต้าของใครเพราะนายกรัฐมนตรีจองให้คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ขณะที่ซีกพปชร.คงพอใจระดับหนึ่งเพราะปรับงวดนี้ได้มา 3 เก้าอี้ต้องชมความเด็ดขาดอ่านเกมส์การเมืองทะลุของบิ๊กตู่ที่กล้าหักดิบปรับครม.ชุดเล็กไม่ตามใจพรรคร่วมรัฐบาลทำให้แรงกระเพื่อมไม่มากเรียกว่า “หมัดนี้เอาอยู่”

แต่ยกต่อไปความไม่แน่นอนมีสูงจากสารพันปัญหาที่ล้วนแต่หนักหนาล้วนแต่เป็นโจทย์ยากภายใต้แรงกดดันที่มาจากรอบทิศ เริ่มจากด้านเศรษฐกิจที่ออกอาการทรุดตัวจากภาคท่องเที่ยวถึงแม้จะมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วงวันหยุดที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวประมาณ 4.5 ถึง 5 ล้านคนเข้าจองห้องพักเต็มโควต้าเม็ดเงิน 2.5-3.0 หมื่นล้านบาท แต่ข้อมูลบางแห่งไม่ถึงหมื่นล้านน่าจะมีโครงการแพ็กเกจใหม่ ๆ ออกมาอีก ประเมินว่าเงินหมุนเวียนในระบบอย่างเก่งประมาณ 1.5-2.0 แสนล้านบาท เทียบไม่ได้กับเงินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบที่หายไปกว่า 3.0 ล้านล้านบาท

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากไวรัสโคโรน่าแบบเต็ม ๆ ไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อใด แม้แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่าปีนี้ขาดทุนยับเยินกระทบไปถึงสภาพคล่องมีเงินเหลือใช้ได้เพียง 8 เดือน เหตุเนื่องจากครึ่งปีแรกผู้โดยสารผ่านสนามบินทั้งไทยและต่างชาติหายไปร้อยละ 60.65 แม้แต่หลังเปิดล็อกดาวน์ช่วงเดือนกรกฎาคมมีผู้ใช้สนามบินในประเทศลดลงถึงร้อยละ 64.5 โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิหนักสุด ข้อมูลนี้เป็นการสะท้อนวิกฤตในภาคท่องเที่ยวที่ชัดเจนมีผลต่อแรงงานไม่น้อยกว่า 2.91 ล้านคนที่ส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนอาชีพหรือกลายเป็นคนตกงานถาวร

ปัญหาว่างงานจะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและคุณสุชาติ ชมกลิ่น ที่จะเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงแรงงานแถมพ่วงอาจารย์แหม่ม (คุณนฤมล ภิญโญสินวัฒน์) เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาช่วยหรือจูงมือกันสอบตก การว่างงานครั้งใหญ่สุดของประเทศช่วงไตรมาส 2 มาจากการปิดล็อกพื้นที่เศรษฐกิจกระทบธุรกิจค้าปลีกและบริการ สำหรับระลอกสองอาจจะเห็นช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณทางลบจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมส่งออก ร้อยละ 40 ถดถอยต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 32.6 ยอดขายในประเทศหดตัวประมาณร้อยละ 34, เครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 16, อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกหดตัว ร้อยละ 18.7, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มแค่เดือนมิถุนายนหดตัวร้อยละ 16 แม้แต่โรงงานการ์เม้นท์รายใหญ่ระดับประเทศเปิดมากกว่าสี่ทศวรรษกำลังจะปิดตัวลง

ที่น่ากังวลคือการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร 2 เดือนที่ผ่านมาหดตัวถึงร้อยละ 17 แสดงว่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานจำนวนมากรวมถึงบริการโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมก่อสร้างนอกจากไม่ขยายตัวยังหดตัวคาดว่าการลงทุนเอกชนปีนี้อาจติดลบสูงถึงร้อยละ 12.6 อีกทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคและส่งออกเดือนพฤษภาคม/มิถุนายนเฉลี่ยหดตัวสูงถึงร้อยละ 24 แสดงให้เห็นว่ากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลงกระทบการจ้างงานรวมถึง โอเวอร์ไทม์ลดลงตามไปด้วย จากการวิเคราะห์ของฝ่ายเศรษฐกิจและการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ภัทรระบุว่าการ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถกลับมาได้ในระยะเวลาอันใกล้และอาจเห็นการว่างงานสูงขึ้น 4-5 ล้านคน

ปัญหาที่เผชิญหน้าหลังการปรับครม. คือสภาพคล่องภาคเอกชนซึ่งอยู่ในสภาวะตึงตัวเหตุจากสถานประกอบการจำนวนมากทั้งจากท่องเที่ยว ค้าปลีก บริการและธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก-นำเข้าที่หดตัว ทำให้รายได้ลดต่ำจนถึงไม่มีรายได้มีการปิดกิจการชั่วคราวประมาณ 4-5 พันแห่งทำให้แรงงานกว่า 9.0 แสนคนมีความเสี่ยง ตัวเลขนี้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์ค่อนข้างมาก ปรากฏการณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจเนื่องจากสถาบันการเงินถึงแม้จะมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงและเงินซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวนห้าแสนล้านบาทที่ยังปล่อยไม่หมดคงเหลือกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ไม่เอื้อให้แบงก์กล้าปล่อยเพราะธุรกิจส่วนใหญ่ที่มาขอกู้เงินคุณภาพหนี้เสื่อมถอยตกสกอร์ สถาบันการเงินล้วนตั้งการ์ดสูงเนื่องจากกลัวหนี้เสียจากความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ที่ลดน้อยลง อีกทั้งความกังวลของสถาบันการเงินจากโครงการยืดหนี้ของธปท. อาจมีโอกาสลูกหนี้แค่ร้อยละ 70 กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

คำถามเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดหรือยัง คำตอบยังคลุมเครือส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเลวร้ายสุด ๆ แล้ว สำหรับผู้เขียนยังยืนยันว่า ณ เวลานี้ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง เพราะเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับการค้าโลกที่ยังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังหนักกว่าเดิม หากโลกยังไม่ฟื้นนักท่องเที่ยวต่างชาติและความต้องการสินค้าส่งออกรวมถึงการลงทุนใหม่จะมาจากไหน ล่าสุดกระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจหรือจีดีพีหดตัวมากกว่าเดิมที่ร้อยละ -8.5 ต่ำสุดมากกว่าวิกฤตสมัยต้มยำกุ้ง ส่วนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ล้วนอยู่ในสภาวะหดตัวทั้งสิ้น

นอกจากความเสี่ยงที่มาจากเศรษฐกิจความท้าทายยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาลที่เริ่มก่อตัวจากการประท้วงของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่ขยายตัวไปกว่า 22 จังหวัด ข้อเรียกร้องให้ยุบสภาแก้รัฐธรรมนูญเริ่มขยายตัวไปสู่การขับไล่บิ๊กตู่ อย่าไปดูถูกพลังเด็ก-เยาวชนเหล่านี้ว่าเป็นแค่พวก “มุ้งมิ้ง” ปัญหามวลชนควรเรียนรู้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ที่หลายรัฐบาลล่มไม่เป็นท่า ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ยุค 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณและล่าสุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเห็นได้ว่าพลังมวลชนเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล อย่าให้เป็นแค่น้ำผึ้งเพียงหยดเดียวหรือมีนักการเมืองบางคนไปสนับสนุนกลุ่มม็อปให้ออกมาคานกันจะทำให้สถานการณ์บานปลายซ้ำเติมเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วให้หนักกว่าเดิม สำหรับรัฐมนตรีใหม่ที่อาสาเข้ามาทำงานขอส่งกำลังใจ ที่สำคัญให้ไปหา “พระรอด” มาคล้องคอกันเหนียวไว้บ้างก็ดีนะครับ