posttoday

พรก.ฉุกเฉิกลากยาว....ระวังก่อเชื้อปะทุการเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจ

15 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

การประกาศปลดล็อกคุมเข้มพื้นที่เศรษฐกิจเฟสที่ 4 ซึ่งจะมีผลทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจกลับเข้ามาเป็นปกติ แต่แนวโน้มที่จะยังคงพรก.ฉุกเฉินน่าจะมีต่อไปโดยอ้างเหตุกลัวการระบาดรอบ 2

เพียงแต่งดใช้บางมาตรการเช่นการเลิกเคอร์ฟิวเนื่องจากหากพ้นเดือนนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จกลัวไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดแบบรวมศูนย์แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตรงนี้คงต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะพรบ.ฉุกเฉินเป็นเหมือน “ยาแรง” ซึ่งที่จริงมีพรบ.โรคติดต่อพ.ศ.2554 และกฎหมายหลายฉบับให้อำนาจรัฐบาลอยู่แล้ว

โดยส่วนตัวเห็นว่าพรก.ฉุกเฉินมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เร็วๆนี้อาจเป็นประเทศต้นๆที่ปลอดการแพร่ระบาดเพียงแต่ว่าสถานการณ์ติดเชื้อมีการผ่อนคลายในรอบสองสัปดาห์เศษไม่มีการพบผู้ติดเชื้อที่สาเหตุจากภายในประเทศ

ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจเห็นได้จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนแห่ของบฟื้นฟูเป็นเงิน 7.83 แสนล้านบาทสูงกว่างบที่ตั้งไว้จำนวน 4.0 แสนล้านบาทจนต้องมีการตั้งคณะทำงานคัดกรองข้อเสนอก่อนยื่นให้ครม.พิจารณา

โดยภาพรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจจากจีดีพีหดตัวไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านล้านบาทแต่ความเสียหายจริงอย่างน้อยมากกว่า 2 เท่า

การดำรงไว้ซึ่งพรก.ฉุกเฉินอาจเหมาะสมในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงใช้มา 2 เดือนเศษเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจำเป็นต้องเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอย

ซึ่งรัฐบาลใช้งบเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปกว่า 4.0 แสนล้านบาทที่ตามมาจะเป็นการกระตุ้นท่องเที่ยวใช้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การลงทุน เริ่มมีการกระตุ้นลงทุนในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกำลังพิจารณาที่จะเปิดให้มีการเดินทางของนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน เช่น นักลงทุนชาวจีนและญี่ปุ่น ฯลฯ 

หากพรก.ยังอยู่แสดงว่าแม้แต่รัฐบาลก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วจะให้ประชาชนหรือภาคเอกชนเขาเชื่อมั่นได้อย่างไร

กล่าวมาเช่นนี้คงต้องรอบครอบ เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ถดถอยทรุดตัวหนักมากแค่แรงงานในระบบตกงานมาขอชดเชยประกันสังคมตามมาตรา 33 ล่าสุดพุ่งสูงถึง 1.55 ล้านคน

ตัวนี้ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบอีกสิบกว่าล้านคนที่มาขอเงินเยียวยาที่กังวลการขยายเวลากฎหมายความมั่นคงอาจสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวดำดิ่งลงไปอีก

อย่าลืมว่าการเมืองนอกรัฐสภากำลังส่อเค้าหาเชื้อปะทุที่จะทำให้เป็นชนวนการเมืองข้างถนนออกมาวุ่นวาย กรณีศึกษาของประเทศสหรัฐฯ อาจไม่ใช่กรณีแค่เหยียดผิวสีอย่างเดียวแต่มีปัจจัยจากการอัดอั้นตันใจทางเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมืองรวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบขี้หน้าประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ทำให้สถานการณ์บานปลาย

ในเวลาเช่นนี้โจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพยากจนถึงขนาดรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งดำริให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจตั้งโรงทานทั่วประเทศช่วยเหลือชาวบ้านและคนตกงานจนไม่มีอาหารจะกิน

ผมขอยื่นยันเรื่องนี้สัปดาห์ที่แล้วจัดโรงทานแจกอาหารและถุงยังชีพให้กับชุมชนโดยขอให้ทางเขตสวนหลวงช่วยเป็นธุระมีชาวบ้านยากจน 300-400 คนยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบมีทั้งคนแก่เด็กและคนที่ไม่มีงานทำ

ต้องชมเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง ที่อำนวยความสะดวกจัดทำเป็นบัตรคิวไปแจกถึงบ้านของคนที่เดือนร้อนมีตำรวจเทศกิจมาดูแลความเรียบร้อยเจ้าหน้าที่เขาบอกว่ามีงานอย่างนี้ทุกวัน

ในอีกด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนว่าคนในเมืองใหญ่อย่างกทม.ยากจนมากอย่างนี้ในชีวิตผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ที่ต้องขอไว้ในช่วงเวลานี้ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้านต้องร่วมมือกันอย่าพึ่งแย่งชิงอำนาจปัดแข้งปัดขากันเองส่วนพวกการเมืองนอกสภาต้องปล่อยให้รัฐบาลทำไปถึงจะไม่ชอบการสืบอำนาจของตัวผู้นำประเทศก็ต้องอดกลั้นเห็นแก่ประชาชนและคนตกงานจำนวนมากที่ถึงขั้นต้องมาขอข้าวกิน

สำหรับเจ้ากระทรวงที่ทำงานไม่ค่อยได้เรื่องขายแต่ฝันหรือที่พวกพ้องเขาไม่ชอบกันจริงๆ ก็ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่าทู่ซี้อยู่ให้เขาว่า หากรู้ตัวก็ควรลาออกไปอย่าให้กลายเป็นเงื่อนไข

ขณะที่ผู้นำประเทศคงต้องแสดงภาวะผู้นำซึ่งในเวลาแบบนี้ สถานการณ์ก็สามารถสร้างวีรบุรุษเป็นตำนานของประเทศได้เช่นกัน

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ต้องมีแผนรับมือระยะยาวมีการกล่าวถึงว่าเศรษฐกิจหลังโควิด-19อาจต้องใช้เวลาการฟื้นตัวอย่างน้อยไปถึงกลางปีหน้าแต่ภาคท่องเที่ยวต้องใช้เวลามากกว่านี้

เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทรุดตัวเลวร้ายมากกว่าที่เคยมี จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าเศรษฐกิจโลกมีการหดตัวอย่างแรงโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาหดตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 

โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรโซนติดลบสูงถึงร้อยละ 9.1 แม้แต่ประเทศจีนเศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของโลกในรอบ 80 ปี       

เวิล์ดแบงค์ยังระบุว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จะเลวร้ายต่อไปทั่วโลกมีคนตกงานและคนยากจนสุดขีดมากกว่า 70-100 ล้านคนเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นจุดสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

กลับมาที่ประเทศไทย รายงานของธนาคารโลกและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของสำนักวิจัยของเอกชนและธนาคารต่างๆ เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อวางแผนการฟื้นฟูประเทศระยะยาว ภายใต้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับหมด

สะท้อนจากเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจล้วนถดถอยต่ำสุดเป็น “New Low” จำเป็นที่จะต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐซึ่งต้องทำอย่างเป็นระบบหากจำเป็นจะต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ก็ต้องทำ

หลายธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการอยู่ในสภาพง่อนแง่นโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยเหลืออย่างไรต้องเร่งทำก่อนที่ต่างชาติจะเข้ามาฮุบหมด ทราบมาว่าใน 4 จังหวัดท่องเที่ยวหลักที่ติดทะเลมีโรงแรมและรีสอร์ทอย่างน้อย 200 แห่งประกาศขายกิจการ

มาตรการของรัฐ จึงต้องออกมาอย่างเป็นแพ็คเกจให้กลุ่มที่เดือดร้อนเข้าถึงได้จริง มาตรการต่างๆ ต้องคิดอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่ครม.มีมติส่งเสริมเป็นนโยบายของรัฐให้ข้าราชการสวมใส่เสื้อผ้าไทยสัปดาห์ละ 2 ครั้งซึ่งก็ดีแต่อาจจิ๊บจ๊อยไปหน่อยเมื่อเทียบกับปัญหาของประเทศที่กำลังประสบอยู่

ขณะที่การต่อพรก.ฉุกเฉินซึ่งแสดงถึงว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติจึงต้องมีกฎหมายควบคุมพิเศษหากจะยื้อออกไปอีกควรระบุเหตุผลให้ชัดและกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดให้ชัดเจน

อย่าไปต่อเป็นรายเดือน เพื่อที่ภาคธุรกิจจะได้วางแผนให้สอดคล้อง....เตือนด้วยความเป็นห่วงจริงๆนะครับ