posttoday

วิกฤตหน้ากากอนามัย...ส่อการเมืองวุ่น

16 มีนาคม 2563

โดย  ดร.ธนิต  โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

หน้ากากอนามัยวันนี้เป็นของหายากและมีความจำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่นั่งรถสาธารณะหรือทำงานที่ต้องพบปะกับคนจำนวนมาก การระบาดมีการกระจายไปทั่วโลกล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับระดับให้เป็นภาวะระบาดกระจายวงกว้างระดับนานาชาติที่เรียกว่า “Pandemic” หน่วยงานด้านสุขภาพของ “UN” รายงานปลายสัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยทะลุจะเข้าสู่หลัก 1.3 แสนคนกระจายอยู่ใน 118 ประเทศทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,600 ราย การระบาดขยายตัวจากจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อิหร่าน ไปสู่ประเทศยุโรปเจอกันทั่วหน้าประเทศอิตาลีหนักสุดป่วยเกินหมื่นสามพันคนตายไปแล้วกว่า 850 รายจนต้องปิดเมืองทั่วประเทศ ตามมาด้วยฝรั่งเศส, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์และเกือบทุกประเทศในยุโรป แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกานอกจากประกาศภาวะฉุกเฉินที่นครนิวยอร์กยังประกาศห้ามหลายชาติรวมถึงยุโรปเข้าประเทศ

ประเทศไทยการระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 20 รายที่ตามมาคือการขาดแคลนหน้ากากอนามัยหาซื้อไม่ได้ชาวบ้านและสื่อมวลชนออกมาถล่มรัฐบาลว่าไร้น้ำยาแค่แก้ปัญหาหน้ากากยังแก้ไม่ได้หากมีคนติดเชื้อมากๆ จะทำอย่างไร มาตรการต่างๆ ไม่ชัดเจนหลายๆ มาตรการผลุบๆ โผล่ๆ เช่น การกักตัวผีน้อยแค่ข้ามคืนเปลี่ยนใจให้ไปกักตัวที่บ้านจะคุมกันได้อย่างไรไปร่วมวงกินเหล้าไปเที่ยวที่ต่างๆ จนมีคนติดเชื้อ ดีที่ตัดสินใจปิดสนามบินด้วยการยกเลิกฟรีวีซ่าและทำวีซ่าที่สนามบิน (VOA) รวมกัน 21 ประเทศที่จริงควรทำมาตั้งแต่เนิ่นๆ และควรเพิ่มหลายประเทศในยุโรปที่มีการแพร่เชื้ออย่างหนัก

หลายมาตรการยังกล้าๆ กลัวๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยิงสปอร์ตโฆษณาเที่ยวทั่วไทยทั้งๆ ที่ควรจะให้คนอยู่กับบ้านในช่วงนี้ ขณะที่งานฉลองสงกรานต์ให้เป็นความสมัครใจของแต่ละจังหวัดซึ่งหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ประกาศยกเลิกแต่อีกหลายจังหวัดยังอยากได้สตางค์จากนักท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไป เวลาอย่างนี้ไม่ต้องไปห่วงท่องเที่ยวต่างคนต่างกลัว หลังยกเลิกวีซ่าซึ่งเหมือนกันเป็นการปิดสนามบินควรเป็นการล้างทำความสะอาดเมืองและแหล่งท่องเที่ยวไปในตัวมาตรการกำกวมเหล่านี้ระวังจะเอาไม่อยู่

ยังเห็นการทำงานแบบเหยียบเท้ากันเองอย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีสาธารณสุขทำงานถึงลูกถึงคนดีอยู่แล้วไม่ทราบว่าน้อยใจหายไปไหน หน่วยราชการยังปีนเกลียวกันเองกรณีโฆษกกรมศุลกากรแจ้งตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัย 2 เดือนแรก 330 ตันระบุว่าเกือบครึ่งส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ช่วงที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมพร้อมระบุว่ากรมการค้าภายในเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ส่งออก ทำให้กระทรวงพาณิชย์เต้นว่าไม่ได้ออกใบอนุญาตให้ใคร อธิบดีกรมการค้าภายในไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับโฆษกกรมศุลกากรข้อหาทำให้เกิดความเสียหาย มีคนไปถามรัฐมนตรีพาณิชย์เจ้าตัวบอกว่าห้ามไม่ได้ไม่มีอำนาจทำให้ประชาชนสับสนว่าเขาเล่นอะไรกันเพราะแค่เจ้ากระทรวงจากสองพรรคการเมืองทั้งคุณอุตตม สาวนายน กับคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ โทรมือถือคุยกันก็จบแล้ว การที่อธิบดีไปฟ้องโฆษกกงศุลกากรคงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวเพราะแต่ละคนสวมหมวกเป็นตัวแทนหน่วยงานของตัวเอง คำถามคือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เล่นกันหนักมีอะไรซ่อนเร้น

ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองเมื่อมีเสี่ยคนหนึ่งอ้างตัวใกล้ชิดกับ บิ๊กใหญ่ระดับรัฐมนตรีช่วยในพรรคพลังประชารัฐมีการโพสต์คลิปว่ามีหน้ากากเป็นล้านชิ้นขอให้มีเงินซื้อได้ไม่อั้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียงแตกแบ่งเป็นพวกไม่ต้องการพายเรือให้โจรนั่งขอให้ถอนตัวจากรัฐบาล อีกซีกหนึ่งมีเสียงมากกว่าบอกว่าไม่ถอนต้องช่วยกันพายเรือแป๊ะทำงานให้บ้านเมือง เท่านี้ยังไม่พอภายในพรรคปพชร.ยังเล่นกันเองมีส.ส.ดังบางคนกดดันให้รัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงที่เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากแสดงความรับผิดชอบกลายเป็นวิวาทะเขย่ากันเองในขั้วรัฐบาล ที่กล่าวนี้ยังไม่รวมพรรคเพื่อไทยกดดันให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อถกปัญหาเกี่ยวกับหน้ากากและมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ต้องเข้าใจว่าในภาวะที่ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคร้าย หน้ากากอนามัยเหมือนเป็นเกาะป้องกันตัวถึงแม้ว่าไวรัสดังกล่าวการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านทางอากาศแต่มาจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ในภาวะที่ประชาชนสับสนและตื่นกลัวหน้ากากเป็นเสมือนปราการด่านแรกป้องกันโรคเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเอง การขาดแคลนจึงขยายวงกว้างกระทบไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่ายจากกำลังการผลิตทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ 1.22 – 1.4 ล้านชิ้นต่อวันแจกจ่ายให้กับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับใช้กับบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ รวมกัน 6.0 แสนชิ้นที่เหลือแบ่งไปทั่วประเทศตามโควต้าร้านขายยาได้ไปประมาณ 1.2 หมื่นชิ้นต่อวันแค่ร้านเซเว่นฯ ซึ่งมีสาขามากกว่า 1,100 แห่งเอาแค่ 10 ชิ้นต่อร้านก็เป็นหลักแสนแล้วแค่นี้ก็ไม่พอแจกจ่ายให้กับประชาชน

การแก้ปัญหาด้วยการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมขณะที่กำลังการผลิต 36 – 38 ล้านชิ้นต่อเดือนแต่ดีมานด์ความต้องการมีถึง 50 – 60 ล้านชิ้นต่อเดือนแค่นี้ก็ไม่พอแล้วและในอนาคตจะยิ่งมากกว่านี้ การตรึงราคาไว้ที่ 2.50 บาทจึงไม่ได้ผลทำให้ไหลไปตลาดมืดที่เป็นตลาดออนไลน์ที่ให้ราคาดีกว่า เช่น หน้ากากอนามัยราคา 16 – 18 บาทต่อชิ้นหากเป็นหน้ากากผ้า 5.8 – 6.0 บาทขายได้กำไรดีกว่าหลายเท่าแม้แต่ราคาส่งออกต่างกันถึง 4 เท่าการควบคุมราคาสินค้าในยุคนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผลโดยเฉพาะเกิดจากความตื่นกลัวอีกทั้งเป็นยุคที่การค้าอยู่บนออนไลน์ไม่ใช่เป็นร้านค้าเหมือนในอดีต กรณีตัวอย่าง “ยาบ้า” จับกันจริงๆ จังๆ ยังขายเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะราคาคุ้มที่จะเสี่ยง 

วิกฤตโควิด-19 เป็นภัยระดับโลกสะท้อนจากความวิตกกังวลทำให้การเดินทางของผู้คนรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยกิจกรรมโลจิสติกส์จะลดหายไปที่ชัดเจนระดับราคาน้ำมันโลก (WTI) ลดต่ำสุดในรอบ 29 ปีวันศุกร์ที่ผ่านมาเหลือบาร์เรลละ 31.50 เหรียญสหรัฐลดต่ำจากต้นเดือนมกราคมที่ราคาต่อบาร์เรล 63.05 เหรียญสหรัฐแค่สองเดือนครึ่งลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ขณะเดียวกันราคาหุ้นทั่วโลกตกอย่างต่อเนื่องแบบ “Hard Landing” แม้แต่ตลาดหุ้นไทยปักแนวตั้งรับไว้แค่ 1,000 จุดขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า

สมมุติว่าวันนี้โควิด-19 จบแต่ความเชื่อมั่นยังไม่กลับมาอย่างน้อยมากกว่า 6 เดือนแต่หลายสำนักเศรษฐกิจประเมินว่าเศรษฐกิจโลกและไทยจะซึมไปทั้งปีหรือจะเขยิบกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ รัฐบาลต้องมีมาตรการชัดเจนอย่าขายฝันภาคเอกชนอ่อนแอสุดๆ แล้ว การเมืองอย่าเล่นกันหนักอย่ามั่วแต่แซะเก้าอี้กันเองเพียงแค่หน้ากากอนามัย ตอนนี้จะพายเรือแป๊ะหรือเรือโจรหากเป็นเรือที่มีประชาชนนั่งอยู่ก็ให้ช่วยกันประคองอย่าให้เรือหล่มเพราะประชาชนจะเดือดร้อนแล้วพวกท่านก็จะอยู่ไม่ได้....จริงๆ นะครับ