posttoday

มาตรการรับมือฝุ่นพิษไม่มีอะไรใหม่...ต้องรู้ต้นตอก่อนแก้ปัญหา

27 มกราคม 2563

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์   รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ควันจากฝุ่นละอองเป็นปัญหาของประเทศมาอย่างน้อย 3 ปีที่คนไทยวันนี้แม้แต่เด็กล้วนรู้จักฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากต้องทนอยู่กับสภาวะควันพิษที่ฟุ้งกระจายตั้งแต่ในเมืองไปจนถึงพื้นที่ชนบทแม้แต่บนยอดดอยก็ยังมีหมอกพิษผสมกับหมอกจริง สังเกตุได้ว่าช่วงรอยต่อปลายปีกับต้นปีปัญหาหมอกควันจะหวนกลับมาแต่เพิ่มดีกรีจากแค่เผาหญ้าข้างบ้านหรือไปต่างจังหวัดมีการเผาวัชพืชข้างถนนจนรถติดยาวเป็นขบวน ในช่วงหลังทวีความรุนแรงกลายเป็นควันพิษ

องค์กรอนามัยโลกหรือ “WHO” กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในอากาศต่อปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และต่อวันอยู่ที่ระดับไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ ลบ.ม. เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากๆ เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เผาหญ้า, ไฟป่า, ควันจากไอเสียรถยนต์, ควันจากอุตสาหกรรม ฝุ่นพวกนี้ลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศได้เป็นเดือนสามารถเคลื่อนไปตามกระแสลมได้เกือบพันกิโลเมตร ฝุ่นที่เป็นพิษถึงขั้นเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อร่างกายต้องเกิน 50 ไมโครกรัม /ลบ.ม. ในกทม.ช่วงต้นมกราคมค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 83 – 85 ไมโครกรัมทำให้ถูกยกระดับติดอยู่ในแชมป์อันดับ 8 ของโลกตัวเลขพวกนี้ขึ้นลงตามช่วงที่มีฝุ่นมากหรือน้อยบางครั้งก็ติดอันดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับ 10 ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองต่อปีที่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐาน ณ วันที่ 13 มกราคม 2563 จัดทำโดย “World AQI Ranking” ได้ดังนี้

ลำดับ เมือง ประเทศ

ค่าเฉลี่ย

(ไมโครกรัม/ลบ.ม.)

1. เดลลี่  อินเดีย 

142.0

2. ลานบาตาร์  มองโกเลีย 

123.6

3. ดั๊กก้า  บังคลาเทศ 

108.5

4. กาฐมาณฑุ  เนปาล 

93.9

5. เซี่ยงไฮ้  จีน 

88.7

6. หางโจ้ว  จีน

88.0

7. ซาลาเจโว  บอสเนีย 

83.1

8. กทม.  ไทย 

83.0

9. เชียงใหม่  ไทย 

82.1

10. ฮานอย เวียดนาม 

80.1

รัฐบาลมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ล่าสุดมีมติครม.ออกแนวทางแก้ปัญหา 12 มาตรา แต่วิธีการยังวนอยู่กับที่เท่าที่ดูไม่มีอะไรใหม่โดยให้น้ำหนักต้นเหตุจากปัญหาเจรจร หรือ“Traffic Index”ได้แก่ ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นใน, ตรวจควันดำ, รถบรรทุกห้ามวิ่งวันคี่, เหลื่อมเวลาทำงานไปจนถึงปิดโรงเรียนชั่วคราว มาตรการอื่นๆ เช่น ตรวจโรงงานไม่ให้ปล่อยควันเสีย, ไม่ให้เผาในที่โล่งแจ้ง, โครงการฝนหลวง, จัดหาเครื่องฟอกอากาศหรือมาตรการให้เอาน้ำฉีดใบไม้หรือล้างถนน การประชุมพฤหัสบดีที่ผ่านมาบิ๊กป้อมนักเป็นหัวโต๊ะยกเป็นแผนระดับชาติ (รอบ 2) มีการตั้งวอร์รูมมาตรการเหล่านี้ก็คงทำไปดีกว่าไม่ได้ทำอะไร

ความเห็นส่วนตัวในฐานะชาวบ้านซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ การแก้ปัญหาต้องรู้ต้นเหตุและต้นตอว่าควันพิษเหล่านี้มาจากไหน จากตารางประเทศติดแชมป์ข้างต้นพบว่า 1 ใน 2 เป็นประเทศที่แทบไม่มีการจราจรหนาแน่นและอุตสาหกรรมมีไม่มาก เช่น มองโกเลีย บังคลาเทศ บอสเนีย แม้แต่สปป.ลาวเป็นประเทศที่เป็นปอดของอาเซียนยังติดค่า PM 2.5 สูง ทำให้เป็นคำถามว่าไปโทษรถบรรทุกปล่อยควันดำเป็นสาเหตุหลักจะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ แม้แต่หลายจังหวัดของไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดเกินมาตรฐานถึง 2 เท่ายังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมค่าควันพิษจึงสูง อีกทั้งหลายจังหวัดซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาจากปัจจัยจราจรหรืออุตสาหกรรม เช่น จันทบุรีบางช่วงค่า PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานถึง 1.7 เท่า ขณะที่จังหวัดตราด, เชียงราย ตาก, แพร่, น่าน แม้แต่บนดอย เช่น อำเภออุ้มผาง มีแต่ป่าและเขาแต่ ค่าควันพิษก็ยังสูงเกินมาตรฐาน

จากงานวิจัยของนายแพทย์ท่านหนึ่งของคณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่ได้วิจัยต้นเหตุของฝุ่นพิษPM 2.5 พบว่าปัจจัยหลักมาจากการเผามวลชีวภาพทางเกษตรไม่ใช่แค่เผาวัชพืชให้น้ำหนักสูงถึงร้อยละ 40 เป็นการเผาเพื่อเตรียมพื้นดินทั้งเผาฟางข้าว หญ้า โดยเฉพาะตออ้อยเป็นปัญหาค่อนข้างมากเนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่ในการปลูกอย่างรวดเร็ว การขุดต้องใช้เครื่องจักรหรือแรงคนซึ่งมีคนใช้จ่ายสูงและช้ากว่าการเผาขณะที่โรงงานน้ำตาลมีเอาเศษซากที่เหลือไปเผาทำเป็นเชื้อเพลิงยิ่งซ้ำเติมฝุ่นละอองให้มากขึ้น อีกทั้งภาคเหนือฝุ่นควันส่วนใหญ่ลอยข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมาโดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมข้ามปีไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ฝุ่นหมอกเหล่านี้ได้รับกระแสลมลอยลงมาถึงกทม.

ปัจจัยที่สองมาจากความหนาแน่นของการเจรจรและควันดำของยานพาหนะโดยเฉพาะรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้น้ำหนักร้อยละ 20 -25 ปัจจัยที่สามมาจากการก่อสร้างอาคาร ถนนหรือรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งพื้นที่ในเมืองอากาศไม่ค่อยหมุนเวียนทำให้ผุ่นละอองสะสม ขณะที่การปล่อยควันจากภาคอุตสาหกรรมมีไม่ค่อยมากเพราะโรงงานพวกนี้ย้ายไปพื้นที่ชั้นนอกมานานแล้ว ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมของนาซ่าร่วมกับเอไอและบิ๊กดาต้าระบุว่าปัญหาหลักของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานในพื้นที่กทม. ต้นเหตุสำคัญมาจากฝุ่นการเผามวลชีวภาพทางเกษตรกรรมซึ่งของไทยยกระดับไปเป็นเกษตรเชิงอุตสาหกรรมมีการขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกทดแทนราคาที่ตกต่ำโดยเฉพาะอ้อยและข้าว

มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลควรศึกษาต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนโดยนำประเทศและจังหวัดซึ่งไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฝุ่นควันแต่ทำไมยังมีค่า PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน ปัญหาหลักคือการเผามวลชีวภาพเพื่อการเกษตรกรรมจะแก้อย่างไร เพราะเกษตรกรยังต้องใช้วิธีการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมดิน กำจัดวัชพืช ไข่ของแมลงที่เป็นศัตรูพืชรวมถึงปุ๋ยที่ได้จากการเผา ขณะเดียวกันฝุ่นเหล่านี้ส่วนหนึ่งลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านขวาก็ประเทศเมียนมาซ้ายเป็นสปป.ลาวแถมยังมีกัมพูชาเข้ามาผสมโรงซึ่งล้วนเป็นประเทศเกษตรยุคดั่งเดิม มาตรการที่ออกมาใหม่เพื่อสู้กับฝุ่นพิษคงต้องเดินหน้าแต่ปัญหายังคงอยู่ต่อไป....เรื่องนี้ผมรู้น้อยแต่ขอแจมด้วยคนนะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)