posttoday

"ธีระชัย"แนะรัฐทบทวนกองทุนน้ำมัน เลิกชดเชยราคาแบบเหวี่ยงแห-บิดเบือน

23 พฤษภาคม 2561

อดีตรมว.คลังจี้รัฐบาลทบทวนกองทุนน้ำมัน ชี้ต้องไม่ให้เป็นเครื่องมือหาเสียง- ม่านกำบังการด้อยประสิทธิภาพ เผยราคาก๊าซไทยแพงกว่างสหรัฐ

อดีตรมว.คลังจี้รัฐบาลทบทวนกองทุนน้ำมัน ชี้ต้องไม่ให้เป็นเครื่องมือหาเสียง- ม่านกำบังการด้อยประสิทธิภาพ เผยราคาก๊าซไทยแพงกว่างสหรัฐ

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาน้ำมันและกองทุนน้ำมัน โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ถึงเวลาทบทวนกองทุนน้ำมัน"

การที่รัฐบาลนี้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทนั้น เป็นการแก้ปัญหา ได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

เพราะไม่มีใครในโลก ที่สามารถจะฝืนแนวโน้มราคาตลาดโลกของพลังงานได้

ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้คาดคิดมาก่อน

เพราะเดิมปริมาณการผลิตน้ำมันมีมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีสกัดน้ำมันที่อยู่ในชั้นหิน shale oil ปริมาณผลิตที่มากขึ้น

เทียบกับปริมาณการใช้ของโลกที่มีการขยายตัวไม่มาก ทำให้นักวิเคราะห์หลายคน คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง

แต่จากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐ เดินหมากทางการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขัดแย้ง

รวมทั้งประเทศซาอุดิอะราเบียที่เปลี่ยนท่าทีนโยบายต่างประเทศ ที่เพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ และทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น

ซึ่งการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นนั้น ก็เป็นที่พอใจของหลายประเทศ ถึงแม้จะมีความตึงเครียดในการเมืองระหว่างประเทศควบคู่ไปก็ตาม

ดังนั้น ในการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันไปในอนาคตข้างหน้า คงต้องเผื่อไว้ว่าราคาน้ำมันอาจจะอยู่ในระดับที่สูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

และเนื่องจากการใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน เพื่อกดราคาน้ำมันดีเซล ก็จะทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือ กระตุ้นให้ประชาชนวางแผนประหยัดการใช้พลังงาน ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดการพึ่งพาพลังงานลงมากกว่าเดิม

*** แต่เรื่องกองทุนน้ำมัน มีประเด็นที่ควรจะทบทวนอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง จะต้องไม่ให้เป็นเครื่องมือหาเสียง

รัฐบาลในอดีตมีการใช้กองทุนนี้เพื่อสนับสนุนฐานเสียง โดยกดราคาน้ำมันเอาไว้ต่ำในช่วงรัฐบาลของตน ผลักภาระให้กองทุนเป็นหนี้หลายหมื่นล้านบาท

และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อมา ที่ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนมาชดใช้หนี้ดังกล่าว

ซึ่งตราบใดที่ยังมีกองทุนน้ำมันคงอยู่ ก็จะเปิดช่องให้เป็นเครื่องมือทำนองนี้ได้อยู่เสมอ

ในแง่นี้ จึงควรยกเลิกกองทุนไปเลย และบอกให้ประชาชนเตรียมตัวเตรียมใจ ปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ราคาตลาดโลกแพงแต่เนิ่นๆ

ส่วนกลุ่มบุคคลที่เดือดร้อนเป็นพิเศษ และมีความยากลำบากในการปรับตัวนั้น รัฐควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก ...

ไม่ว่าผ่านกลไก negative income tax หรือคัดเฉพาะผู้ถือบัตรคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่ากำหนด เป็นต้น

แต่ควรยกเลิกหลักการ ที่รัฐชดเชยราคาแบบเหวี่ยงแห ให้ประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน เพราะเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น ผมเองพอมีฐานะช่วยตัวเองได้ และไม่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมัน แต่บังเอิญใช้รถเบนช์ดีเซล 2 คัน ก็ได้ประโยชน์ไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ

และขอให้ผู้อ่านพิจารณากันเองว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล คสช. เป็นการหาเสียงหรือไม่?

ประเด็นที่สอง จะต้องไม่ให้เป็นม่านกำบังการด้อยประสิทธิภาพ

สิ่งที่ต้องระวัง คือการใช้กองทุนเป็นม่านกำบังความไร้ประสิทธิภาพ หรือการมีอำนาจผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม หรือการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทในธุรกิจบางบริษัทเกินกว่าที่ควร

ในประเด็นนี้ เครือข่ายประชนชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เรียกร้องให้มีความโปร่งใส แต่ถูกบิดเบือน ...

ถูกกล่าวหาว่า คปพ. เข้าใจผิดว่าไทยมีก๊าซหรือน้ำมัน มากเท่ากับ หรือมากกว่าประเทศซาอุดิอะราเบีย!!!

คำพูดอย่างนี้เป็นการใส่ร้ายครับ ...

เพราะไม่มีใครโง่พอที่จะคิดหรือเชื่ออย่างนั้น และ คปพ. ก็ไม่เคยพูดอย่างนั้น

คนที่เชื่อว่า คปพ. พูดอย่างนั้น ก็มีแต่คนโง่เท่านั้น

ทั้งนี้ จุดที่ คปพ. วิจารณ์ ก็มิได้ไปยึดโยงกับปริมาณน้ำมันในประเทศเลยแม้แต่น้อย เพราะรู้ดีว่า ไทยต้องนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จำเป็นต้องวิจารณ์นั้น คือ *** การใช้ก๊าซ

เพราะถึงแม้ไทยจะไม่ได้มีก๊าซมากมายเท่ากับประเทศซาอุดิอะราเบียก็ตาม มีอาการปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม ที่กระทรวงพลังงานสมควรต้องอธิบาย

จุดที่หนึ่ง

ก๊าซหุงต้มในไทยแพงกว่าสหรัฐถึง 1 ใน 3 (ดูรูป) ทั้งที่ค่าแรงงาน เงินเดือน และค่าใช้จ่ายในการแยกก๊าซในไทยต่ำกว่าสหรัฐอย่างมาก

ต้องอธิบายว่าเกิดจากเหตุใด?

จุดที่สอง

ราคาที่ผู้ผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณและบงกชขายให้แก่ผู้ซื้อผูกขาดรายเดียวในไทยนั้น สูงกว่าราคาเปรียบเทียบกันในสหรัฐ เป็น 2 ถึง 3 เท่า (ดูรูป)

ต้องอธิบายว่า เป็นเหตุทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในไทย สูงกว่าสหรัฐถึง 1 ใน 3 หรือไม่?

จุดที่สาม

การที่ธุรกิจปิโตรเคมีได้ลำดับ priority การใช้ก๊าซผลิตในประเทศ ก่อนประชาชนทั่วไป อันเป็นการผลักให้ประชาชนทั่วไปต้องใช้ก๊าซนำเข้า ที่มีราคาแพงกว่าก๊าซผลิตในประเทศ

ต้องอธิบายว่า เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่?

ที่มา https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/posts/2000353803331748

"ธีระชัย"แนะรัฐทบทวนกองทุนน้ำมัน เลิกชดเชยราคาแบบเหวี่ยงแห-บิดเบือน

"ธีระชัย"แนะรัฐทบทวนกองทุนน้ำมัน เลิกชดเชยราคาแบบเหวี่ยงแห-บิดเบือน

"ธีระชัย"แนะรัฐทบทวนกองทุนน้ำมัน เลิกชดเชยราคาแบบเหวี่ยงแห-บิดเบือน